ไขความลับทำไมภาพถ่ายไม่เหมือนกับภาพที่ตามองเห็น

สังเกตุไหมว่าเวลาที่เราเดินทางได้ท่องเที่ยวในสถานที่สวยงาม สภาพแวดล้อมเป็นใจ มีแสงสวยสวยๆสะท้อนเรืองรอง บรรยากาศชวนฝันเป็นแบล็คกราวก็อยากจะหยิบกล้องตัวโปรดขึ้นมาแชะภาพเก็บไว้ในเมมโมรี่ หรือแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้ชื่นชมความงดงามนั้นด้วย

แต่ปัญหาที่หลายๆคนพบเจอเหมือนกันคือไม่ว่าจะถ่ายยังไงภาพที่ได้ก็ไม่เหมือนกับที่มองเห็นด้วยตาสักที บางคนก็ติว่าเป็นที่ฝีมือตัวเองยังไม่เข้าขั้น บางคนก็ว่าอุปกรณ์กล้องไร้คุณภาพ แต่อันที่จริงแล้วมันอาจผิดที่ดวงตาของเราเองต่างหากที่ดีเกินไป

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ ?? อย่าลืมว่าความสามารถของดวงตามีวิวัฒนาการมาหลายล้านปีจากกลุ่มเซลล์รับแสงเพียงไม่กี่เซลล์ จนกลายเป็นดวงตาที่สามารถแยกสี ปรับความคมชัด มองเห็นในที่สว่างจ้ามากเป็นพิเศษ หรือแม้แต่กับในยามวิกาลได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเวลาหลายล้านปีของวิวัฒนาการจะด้อยกว่ากล้องถ่ายรูปที่เพิ่งจะพัฒนามาไม่กี่ร้อยปีได้อย่างไร แม้ว่าในบางสถานการณ์กล้องจะทำงานได้ดีกว่าดวงตาก็ตาม

ดวงตาของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะดวงตาของมนุษย์เป็นสิ่งน่าทึ่ง มันสามารถจับแสงเพียงเล็กน้อยในความมืดมิดไปจนถึงแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือเปลี่ยนการโฟกัสจากหน้าจอมือถือข้างหน้าคุณ ไปยังเส้นขอบฟ้าขอบทะเลไกลโพ้นภายในเสี้ยววินาที โครงสร้างของมันมีทั้งความยืดหยุ่นและความซับซ้อนอย่างมาก มันเริ่มต้นเมื่อ 500 ล้านปีก่อนจากจุดรับแสง light spot ในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเหมือนกับใน ยูกลีนา (Euglena) ไปเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น

 

กุญแจสำคัญในการพัฒนาเป็นดวงตาแบบที่เรารู้จักนั้นอยู่ที่ เลนส์ ซึ่งน่าจะวิวัฒนาการมาจากเซลล์โปร่งแสงที่ปกปิดช่องดวงตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนจะกลายเป็นโครงสร้างที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ในการรวมแสงไปตกอยู่ในจุดจุดเดียวของเรตินา การเปลี่ยนความโค้งของมันทำให้สามารถมองเห็นใกล้และไกลได้อย่างรวดเร็ว แต่ความพิเศษของเลนส์ดวงตาเองก็เป็นข้อจำกัดอยู่ในที แปลว่าเราสามารถเห็นภาพที่ชัดได้แค่ ใกล้ หรือ ไกล เท่านั้น ไม่สามารถเห็นภาพชัดทั้งสองระยะพร้อม ๆ กันได้

ในขณะที่กล้องเก็บภาพโลกของเราต่างจากสิ่งที่ตาเรามองเห็น แม้ว่าทั้งกล้องและตาจะมีเลนส์ใช้ในการรวมแสงเหมือนกัน และยังมีเซนเซอร์ที่เป็นตัวรับแสงที่อยู่ด้านหลังของเลนส์เช่นเดียวกัน แต่มันทำงานต่างกัน เลนส์ในกล้องเคลื่อนที่เข้าหาหรือออกห่างจากเซนเซอร์ ในขณะที่เลนส์ของดวงตามีการยืดหดตัวปรับเปลี่ยนรูปร่างของเลนส์เพื่อปรับระยะโฟกัส เซนเซอร์รับแสงที่อยู่ในกล้องนั้นแต่ละจุดรับแสงได้เพียงสีใดสีหนึ่งเท่านั้น แม้ว่ามันจะกระจายตัวอย่างทั่วถึงและเท่ากันทั้งพื้นผิว ซึ่งแยกเป็นสีแดง เขียว และน้ำเงิน ในขณะที่ตัวรับแสงในดวงตามีสามชนิดสำหรับสามสีในสภาพแสงปกติ และอีกหนึ่งชนิดสำหรับสภาพแสงน้อย

 

ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราแยกสีไม่ได้ในสภาพแสงน้อย แม้ว่ามันจะทำงานได้ดีแต่การกระจายตัวของตัวรับแสงในดวงตานั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทั่วถึง เช่นส่วนกลางของดวงตามีตัวรับแสงน้อยกว่า ซึ่งทำให้ในบางสถานการณ์การมองเห็นของเราสามารถถูกหลอกได้ เช่นการมองภาพขาวดำซ้ำไปมา หรือการจ้องมองภาพที่มีสีเดียวเป็นเวลานานก่อนหันไปมองกระดาษสีขาวทำให้ตามองเห็นกระดาษขาวไม่ขาวอีกต่อไป หรือในบางจุดของดวงตาที่เรียกว่า blind spot ซึ่งไม่มีตัวรับแสงอยู่เลยเนื่องจากมันเป็นส่วนต่อของเส้นเลือดและเส้นประสาท แต่เรามักไม่สังเกตเห็นมันเพราะว่าสมองเราเป็นตัวประมวลผลและเติมเต็มจุดนั้นให้ จึงเรียกได้ว่า เราเห็นเพราะสมองของเราบอกว่าเห็น ไม่ใช่เพราะตาของเรา แต่กล้องถ่ายรูปหรือกล้องวิดีโอสามารถเก็บรายละเอียดที่ตาของเราอาจจะมองข้ามไปได้

ในบางสถานการณ์ดวงตาสามารถทำงานได้ดีกว่า เนื่องจากการปรับตัวและวิวัฒนาการทางด้านการมองของเราที่พึ่งพาทั้งดวงตาและการประมวลผลของสมอง หากเราเทียบเคียงกับสิ่งประดิษฐ์ของเราก็อาจจะได้กล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายวิดีโอที่มีระบบ Auto-focus สามารถจับจุดที่ต้องการให้ชัดได้อย่างอัตโนมัติ พร้อมโหมดการถ่ายภาพที่ชัดทั้งระยะหน้าและระยะหลัง หรือแม้แต่การจับเอารายละเอียดที่เล็กน้อยทั้งหมดมารวมกันอยู่ในภาพหรือคลิปเดียวโดยใช้ระบบประมวลผลแบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนการประมวลผลของสมองมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะได้กล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอซึ่งดีที่สุด เก็บรายละเอียดได้ดีที่สุด เพียงเพื่อให้ดวงตาที่มองทุกอย่างแบบภาพรวมได้เห็นก็เป็นได้

 

ที่มา :ทรูปลูกปัญญา