“เอสเอ็มอีไทย” ถึงเวลาต้องปรับตัว BBLแนะเกาะเทรนด์อี-คอมเมิร์ซขยายตลาด

อย่างที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้โลกได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไปสู่โลกยุคดิจิทัลหรือ Digitization อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งที่เกิดจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-COMMERCE) มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแนวโน้มทางการค้าโลกที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต


แน่นอนว่า แนวโน้มการเติบโตของ E-Commerce ในโลกยุคไร้พรมแดน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยต้องปรับตัวให้ทัน ในช่วงที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยไม่ตกยุค อย่างล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ จำกด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ในหัวข้อ“ก้าวทันก่อนใคร E-Commerce trends 2019”เพื่อช่วยต่อยอดและขยายศักยภาพธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคที่ธุรกิจE- Commerceกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมองว่าธุรกิจนี้จะเป็นหนึ่งในกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกด (มหาชน) หรือ BBL ได้ให้มุมมองต่อการค้าในปัจจุบัน โดยระบุว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากโลกแห่งการติดต่อสื่อสาร ที่ทำให้โลกการค้าที่ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นการขายสินค้าในทุกวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น แต่สามารถขยายตลาดไปได้ทั่วโลก ผ่านทางด้านตลาดออนไลน์ หรือ E-Commerce ซึ่งจะเห็นได้ว่าการซื่อขายทำได้ง่ายขึ้น ผ่านเครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ซึ่งทำให้ E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างมาก

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือETDA คาดว่า ในปี 2562 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นการขยายตัวจากปีก่อนประมาณ 12% ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยผู้บริโภคกว่า 90% จะซื้อขายสินค้าผ่านสมาร์ตโฟน ขณะที่การชำระค่าสินค้า ยังสะดวกมากขึ้นด้วยโมบายแอพพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน

สำหรับปัจจัยการเติบโตของ E-Commerce วีรศักดิ์ มองว่า มาจากการที่ผู้บริโภคที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมั่นใจ ในการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ให้บริการค้าปลีกรายใหญ่และผู้ให้บริการ E-Market Place จากต่างประเทศ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ ทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์และโมบาย แอพพลิเคชั่น

 

“การที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากต่างประเทศ ขยายตลาดมายังประเทศไทย ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริมศักยภาพในการทำการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้น แน่นอนว่า การที่มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในตลาดการค้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เอสเอ็มอีไทย จะต้องเตรียมพร้อม คือ ต้องปรับตัวและวางแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทันกับกระแสการค้าในโลกยุคใหม่”

 

นอกเหนือจากสนับสนุนในด้านการให้ความรู้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นหนึ่งในธนาคารที่ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านการให้สินเชื่อ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทำให้ธุรกิจเติบโต และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยวีระศักดิ์ มองว่า สินเชื่อในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารกรุงเทพในปี 2562 จะเติบโตประมาณ 4-5%

 

ด้านภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Tarad Dot Com Group ได้ฉายภาพธุรกิจE-commerce Trends ในปี 2019 ด้วยว่า หากย้อนดูธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทย จะพบว่าเริ่มต้นในช่วงประมาณปี 2543 แต่ในช่วงแรกยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากนัก กระทั่งผู้ประกอบการ E-Market Place รายใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee ได้เข้ามาทุ่มเม็ดเงินจัดโปรโมชั่น และแคมเปญการตลาด เพื่อสร้างฐานลูกค้า

แน่นอนว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้ E-commerce ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของภูมิภาคอาเซียนในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนช่องทางการซื้อขายมาจาก Social Media 40% E-Market Place 35% และ Brand Site 25%

 

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจ E-commerce ในปี 2562 นั้น ภาวุธ มองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในส่วนของ E-commerce Trend 2019 จะมีด้วยกัน 10 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

1. การแข่งขันที่รุนแรงของ JSL (J.D.-Shopee-Lazada) E-Marketplace ระดับโลกในไทย

2. สินค้าจีนจะเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน

3. Brand จะโดดข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น

4. การผสานช่องทาง Online และ Offline

5. ผู้ให้บริการ E-commerce จะมาช่วยธุรกิจ

6. บริการสนับสนุน E-commerce โตขึ้นอย่างรุนแรง

7. ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing)

8. การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเริ่มเติบโต (Cross Border)

9. Social Commerce เติบโตอย่างต่อเนื่อง

10. การตลาดรูปแบบใหม่ จะฉลาดมากยิ่งขึ้น