ปลายปีที่แล้ว มีความเคลื่อนไหวใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม นั่นคือ กลุ่มไทยเบฟฯ ดำเนินการเพิกถอนบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยในเครือไทยเบฟฯ ซึ่งแน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวนี้ในแวดวงธุรกิจต่างมองถึงสาเหตุว่า ทำไม ไทยเบฟ ต้องเอาเสริมสุขออกจากตลาดหุ้น เหมือนเช่นกรณีที่เคยนำ โออิชิ ออกจากตลาดหุ้นมาแล้ว
สัญญาณการเตรียมความพร้อมต่อกรณีถอนเสริมสุข ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปฎิเสธไม่ได้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อม การจัดการภายในองค์กร เพื่อรองรับตามโรดแมพครั้งสำคัญของเครือไทยเบฟ เพราะไทยเบฟ มองว่า “เสริมสุข” คือแขนขาอาวุธสำคัญในการรุกตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non Alcohol) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ไม่น้อยไปกว่าตลาดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่ทางไทยเบฟยึดตลาดไว้ได้อยู่แล้วแบบเบ็ดเสร็จ
ที่ผ่านมา ไทยเบฟ พยายามจะขยายตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายตลาดแบรนด์เดิม และการสร้างแบรนด์ใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงการสร้างแบรนด์เอง และการเทกโอเวอร์ เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ สามารถแตกไลน์ขยายตลาดในวงกว้างได้ และที่สำคัญ แผนการตลาดสามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของบทกฎหมายเหมือนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ หากมองดูเมื่อปี 2565 ไทยเบฟ มีสัดส่วนรายได้มาจาก กลุ่มสุรา 45.6% มากที่สุด, รองลงมาคือ กลุ่มเบียร์ 43.3%, กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.8% และอาหาร 5.4% น้อยที่สุด
ส่วนกำไรสุทธิ มาจากกลุ่มสุรา มากที่สุดที่ 75.3% เรียกว่าเกินครึ่ง, ตามมาด้วยกลุ่มเบียร์ สัดส่วนกำไร 21.1%, ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังมีเพียงแค่ 2.6% และกลุ่มอาหารแค่ 1% เท่านั้น
จากข้อมูลดังกล่าว จะได้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของเสริมสุข คือ อาวุธสำคัญของไทยเบฟในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มหลากหลาย ประกอบด้วย
1. กลุ่มเครื่องดื่มอัดแก๊ส ประกอบด้วย น้ำอัดลม แบรนด์ ‘เอส’ (est), น้ำอัดลมแบรนด์ ‘ซาสี่’ (Sarsi), โซดา แบรนด์ ร็อค เมาเท่น (Rock Moutain), เครื่องดื่มเกลือแร่ ‘100พลัส’ (100 Plus)
- กลุ่มเครื่องดื่มไม่อัดแก๊ส ประกอบด้วย น้ำดื่ม แบรนด์ ‘คริสตัล’ (CRYSTAL), ชาเขียวพร้อมดื่ม ‘โออิชิ’ (OISHI), เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ‘แรงเจอร์’ (RANGER), เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ‘วีบูสท์’ (V BOOST), เครื่องดื่มซุปสกัด ซีทูน่า เอสเซนส์ (ZEA TUNA ESSENCE), เครื่องดื่มเกลือแร่ ‘พาวเวอร์พลัส’ และเครื่องดื่มสมุนไพร ‘จับใจ’
เมื่อวิเคราะห์เหตุผลแล้ว สอดคล้องกับการที่ไทยเบฟโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มไทยเบฟ ได้ประกาศวิชันการดำเนินธุรกิจจากนี้ว่า “ไทยเบฟตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วน 50% เท่ากับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 50% ภายในปี 2573”
จากถ้อยแถลงของ ฐาปน จะพบถึงสาเหตุการดึงเสริมสุขออกจากตลาดหุ้น 2 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
1. เพื่อให้การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการลดขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
- กลุ่มไทยเบฟ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ความหมาย คือ อาจจะมีการปรับกลยุทธ์ การซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ การควบรวมกิจการซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวมากกว่าการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม แม้การคาดการณ์ว่า เสริมสุข จะเป็นพระเอกหลักในการขยายตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในเครือ ด้วยงบทุนกว่า 9,500 ล้านบาท ย่อมสร้างแรงกดดันอย่างมาก นั่นเพราะเมื่อมองดูแต่ละแบรนด์ในพอร์ตสินค้าของเสริมสุขแล้ว ต้องยอมรับว่า แต่ละแบรนด์มีความแข็งแกร่งที่ต่างกันมาก และมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของตลาดรวม อาทเช่น น้ำดื่มคริสตัล ดูเหมือนว่า จะมีความแรงไม่น้อยในช่วงหลังนี้
ทั้งนี้ ข้อมูลของนีลเส็นไอคิว ระบุว่า ช่วงเดือนตุลาคม ปี2566 – กันยายน ปี2567 แบรนด์น้ำดิ่ม คริสตัล สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดน้ำดื่ม ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในเชิงมูลค่า ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 17.9% จากตลาดน้ำดื่มที่มีมูลค่า 45,740 ล้านบาท โต 6.1% โดยยอดขายคริสตัลช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) เติบโต 4.4%
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งอย่างน้ำดื่มสิงห์ ก็ยังคงอ้างว่าตัวเองเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 20% จากมูลค่าตลาด 38,000 ล้านบาท โดยน้ำดื่มคริสตัล มีส่วนแบ่งตลาด 18.6% และน้ำดื่มเนสท์เล่ มีส่วนแบ่งตลาด 11.4%
ส่วนตลาดชาเขียว แบรนด์โออิชิ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มต่อเนื่องมายาวนาน กระทั่งแบรนด์
อิชิตัน เข้ามาทำตลาด จึงทำให้ตลาดชาเขียวในปัจจุบันมีมูลค่า 17,848 ล้านบาท แข่งกันถึงพริกถึงขิง ซึ่งในช่วงหลังนี้ทั้งคู่สลับผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด
ข้อมูล 12 เดือนล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2567 (สิงหาคม 2566 – กรกฎาคม 2567) จากบริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แบรนด์โออิชิ เป็นชาเขียวยอดขายอันดับ 1 เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งเชิงมูลค่า 41.8% โดยมีเซกเมนต์ 0% ที่มีการเติบโตสูงถึง 34%
ส่วนอิชิตันรายได้งวด 6 เดือนปี 2567 และ ปี 2566 เท่ากับ 4.444.4 ล้านบาท และ 3,862.3 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโต 582.1 ล้านบาท หรือเท่ากับ 15.1%
ขณะที่ตลาดน้ำอัดลม ที่มีแบรนด์เอส กรำศึก ก็ยังคงเป็นอันดับที่สามในตลาดรวมน้ำอัดลม 62,000 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งคาดว่าในปี 2567 นี้ก็เติบโตในระดับ 5%-10% โดยที่แบรนด์โค้ก กับ เป๊ปซี่ ชิงกันอย่างสม่ำสมอ ซึ่งตลาดน้ำอัดลมจะแบ่งออกเป็นน้ำอัดลมประเภทโคล่า 70% และน้ำสี 30% โดยปัจจุบัน โค้กมีแชร์ 51% เป๊ปซี่แชร์ 30% และเอส โคล่า 8.6%
ส่วนแบรนด์อื่นที่เหลือในเซกเมนต์อื่น ๆ ของเสริมสุข ก็ไม่ได้มีอะไรที่ร้อนแรงเท่า ซึ่งการพึ่งพาสามแบรนด์ดังกล่าวอย่าง โออิชิ คริสตัล และ เอส จึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยเกินไป และยากที่จะนำพาไปสู่เป้าหมาย สัดส่วนรายได้เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 50% เป็นแน่
ตรงนี้จึงทำให้เสริมสุขต้องมีความเคลื่อนไหวในแง่ของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์เดิม ๆ ที่มีอยู่ตลอดจนการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือแม้แต่การเทกโอเวอร์หรือซื้อกิจการแบรนด์อื่น การร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยังมีเครื่องดื่มอีกหลายเซกเมนต์ที่เสริมสุขเองหรือกลุ่มไทยเบฟก็ตามที่ยังไม่มีในตลาดอีกมาก
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้หากมัวคิดจะสร้างสินค้าแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเอง ย่อมเป็นการเสียเวลาและต้นทุนเคลื่อนไหว ไม่ทันกับตลาดที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมเอื้ออำนวยต่อการเดินหน้าและสร้างความคล่องตัวมากกว่า ดังเหตุผลที่ว่า “กลุ่มไทยเบฟ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ความหมายคือ อาจจะมีการปรับกลยุทธ์ การซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ การควบรวมกิจการซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวมากกว่าการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ” นั่นเอง
จากนี้อีกไม่นาน จะได้เห็นการเคลื่อนทัพของเสริมสุขในเชิงรุกกับกลยุทธ์ใหม่ ๆ แน่นอน
เขียนและเรียบเรียง : เกรียงศักดิ์ เชน
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business