เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะติดลบอีกครั้ง!! ดุลการค้าและบริการดิ่ง ‘ลงเหว’ เอกชนไม่ลงทุนเพิ่ม หลายสัญญานชี้ไทยถดถอย จนต้องหั่นเป้า GDP

ถึงแม้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/2564 ที่ประกาศออกมาจะขยายตัว 7.5% (YoY) และครึ่งปีแรกขยายตัว 2% (YoY) แต่นั่นเป็นผลจากช่วงปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงจนต้องมีการล็อกดาวน์

และเรายังพบว่าข้อมูลจาก สภาพัฒน์ หากแบ่งตัวเลขเศรษฐกิจเป็นรายกลุ่ม จะพบว่า GDP ของกลุ่มค้าปลีก หดตัวลง 3.4% และกลุ่มขนส่งหดตัวลง 5% และภาคบริการหดตัว 0.8% (QoQ)

นอกจากนี้ เมื่อเราดูองค์ประกอบของ GDP แยกตามกลุ่มแล้ว จะเห็นว่าในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ยังหดตัว 2.5% และการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 2.5% (QoQ)

ดังนั้น การที่เห็นว่า GDP เติบโต 7.5% นั้น มาจากภาครัฐ และการส่งออกล้วนๆ!! โดยการบริโภคภาครัฐ เติบโต 1.2% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.3% และการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.2%

เมื่อมองดูองค์ประกอบทั้งหมดตรงนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ที่ขยายตัวนั้น เป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จากนโยบายต่างๆ เพื่อประคับประคองตัวเลขเศรษฐกิจ และอีกส่วนมาจากการส่งออก

แต่หากมองที่ภาคการส่งออกถึงแม้จะเติบโต 27.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) แต่การเติบโตนั้น น้อยกว่าการนำเข้าที่เติบโต 31.4% ซึ่งหากยังมีการเติบโตในลักษณะนี้ต่อไป จะทำให้เราขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อเราดูข้อมูล ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแสดงถึงภาพรวมของดุลการค้าและบริการ ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังติดลบ หรือขาดดุลถึง 163,818.71 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มจากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ขาดดุล 103,451.25 ล้านบาท (ข้อมูลจากธปท.)

ดังนั้น จากสัญญานต่างๆ ประกอบกัน เราจะเห็นแล้วว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังคงอ่อนแอ

ซึ่งทาง สภาพัฒน์ ได้ปรับลดประมาณการ GDP ใหม่ โดยคาดการณ์การเติบโตที่ 0.7-1.2% (จากเดิม 1.5-2.5%) แต่การคาดการณ์นั้น ขึ้นอยู่กับสมมติฐานการควบคุมการระบาดของโควิด-19

และคาดว่าจะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 รวมถึงการควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ฐานการผลิตและการท่องเที่ยว ที่สำคัญต้องกระจายฉีดวัคซีนได้ 85 ล้านโดสในปี2564 (หากไม่สามารถควบคุมได้ตามกรณีฐานโอกาสที่จะเห็น GDP ทั้งปีขยายตัวต่ำกว่า 0.7%)

เมื่อมองตัวเลขเศรษฐกิจในมุมของ สภาพัฒน์ ไปแล้ว มาดูบทวิเคราะห์ของ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ กันบ้าง โดยก่อนหน้านี้ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือเพียงแค่ 1.0% (ซึ่งได้ปรับลดลงมาจาก 1.8%)

และล่าสุดไม่กี่วันมานี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาด-19 ที่ยังรุนแรง ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับ 20,000 คนต่อวัน ได้กดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดประมาณการเศรษฐกิจไทย กลายเป็นตัวเลขติดลบ -0.5%

และสามารถสรุปสาเหตุ 3 ข้อที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ ดังนี้

1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวกว่าที่เคยประเมินไว้ (โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินเมื่อเดือนกรกฎาคม)

ซึ่งตอนนี้ คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือนกันยายน และจะค่อยๆ ลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็วกว่าไตรมาสที่ 4 ในปี 2564

ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (สิ้นสุดกันยายน) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด

2. ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ดังนั้น จึงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน

3. ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน มองว่า หากการแพร่ระบาดยังคงไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้เกิดการปิดโรงงาน และมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นอกจากนี้ อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และ EU ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เป็นหดตัว -0.5% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงต่อเนื่อง ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น

ซ้ำเติมด้วยความเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังของเราในขณะนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ปี 2564 เป็นอีกปีที่เราจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยติดลบ หลังจากปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1%

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ,สภาพัฒน์ ,SCB EIC

https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5176

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #GDP #ตัวเลขเศรษฐกิจ #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย