“เศรษฐกิจพอเพียง” กุญแจสู่ความยั่งยืน

cover_page_01

การพัฒนาชาติไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยอย่างรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเติบโตดังกล่าวของประเทศไทยในอดีต ไม่ได้มีการเติบโตอย่างสมดุลหรือเทียบเท่าในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ขณะเดียวกัน การเติบโตและเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้เกิดผลเชิงลบ เช่น การพึ่งพาคนกลาง ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการดำริแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 (ข้อมูลจากมูลนิธิชัยพัฒนา) เศรษฐกิจพอเพียงได้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่แนะแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนในทิศทางที่ควรจะเป็นอย่างเหมาะสม โดยอิงพื้นฐานของวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยและนำมาประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยมองทุกอย่างเป็นระบบ มีการเชื่อมโยงกันและกัน โดยทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเตรียมพร้อมการดำรงชีวิตและการทำงานที่รองรับต่อภัยหรือวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

พระองค์ท่านได้สร้างสรรค์หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้าใจได้โดยง่าย เพื่อพระราชทานให้กับประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจหลักการอย่างเหมาะสม โดยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบไปด้วย 3 หลักการ ได้แก่
1. ความพอประมาณ คือ ทางสายกลาง ความพอดี ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ทั้งนี้ต้องไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. ความมีเหตุผล คือ การตัดสินว่าความพอดีหรือความพอเพียงนั้นต้องอาศัยความมีเหตุผล โดยการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยมองเหตุและผลเป็นสำคัญ โดยต้องระลึกถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกระทำหรือเหตุนั้นอย่างรอบคอบ
3. ภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การมีความพร้อมและการเตรียมตัวเพื่อรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในอนาคตอันใกล้และไกล
จากหลักการ สามารถสรุปแนวทางการปฏิบัติของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development : SD) โดย SD มีความชัดเจนและกล่าวถึงในช่วงปี ค.ศ. 1987 หรือ พ.ศ. 2530 ซึ่งแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้เกิดขึ้นก่อนหน้าถึง 13 ปี

แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development : SD) สามารถสรุปได้ว่า เป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติต้องหมดไป และเป็นการบริหารจัดการธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงและยั่งยืน โดยดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีความพร้อมรับต่อสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หลักการของ SD คือ การทำธุรกิจที่โปร่งใส การพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นระบบและสมดุล หลักธรรมาภิบาล และการสร้าง CSR in Process เป็นต้น

แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development : SD) อย่างชัดเจน โดยเป็นการบริหารจัดการชีวิตและธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านและมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างสมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงที่ประชาชนได้นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและการทำงาน และนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ที่ได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับจากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2553 โดยเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรสวนปาล์มและใช้แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

โครงการชั่งหัวมัน โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ทดลองปลูกมันเทศในพื้นที่อำเภอท่ายาง ซึ่งมีความแห้งแล้ง แต่ผลปรากฏว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี พระองค์ท่านจึงได้ดำรัสให้เกิดการใช้พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในการเลี้ยงตนเองได้และไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาพื้นที่ เช่น การปรับปรุงระบบน้ำเพื่อใช้ในโครงการ การจัดสรรพื้นที่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจและไม้ผล ตลอดจนการปลูกข้าว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว รวมไปถึงยางพารา และการทำปศุสัตว์ เช่น ฟาร์มโคนม ไก่ เป็นต้น

การทำธุรกิจในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่าธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เกิดขึ้นและดับไปในทุก ๆ วัน โดยพบว่าประเทศไทยมี SMEs มากกว่า 2 ล้านราย ทั่วประเทศไทยและทุก ๆ เดือนจะมี SMEs มากกว่า 10,000 รายที่ต้องปิดตัวไป สาเหตุของการปิดตัวของ SMEs เหล่านั้น จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เงินทุนไม่เพียงพอ ไม่เก่งงานด้านการตลาด

แต่ผลจากการวิจัยของบริษัท เอ็มวีพี คอนซัลท์แทนท์ จำกัดพบว่า ปัญหาที่แท้จริง คือ 1. การไม่รู้จักการประมาณตนหรือความพอดีที่เหมาะสมกับธุรกิจ 2. ขาดการคิดอย่างมีเหตุและผล และ 3. ไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองหรือองค์กร ซึ่งเข้าข่ายหลักการของแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกันที่ดี

สาเหตุที่ 1 การไม่รู้จักการประมาณตนหรือความพอดีที่เหมาะสมกับธุรกิจ

ผู้ประกอบการ SMEs ไทย เมื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากการกู้ยืมหรือได้ทุนสนับสนุน ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของรายได้จากยอดขาย พบว่าไม่ได้นำเงินเหล่านั้นไปใช้อย่างเหมาะสม แต่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่แปลงสภาพเป็นเงินสดได้ยาก

ขณะที่ผู้ประกอบการอีกกลุ่มใหญ่ที่ลงทุนเกินตัว ขาดความพอประมาณ คิดใหญ่ แต่ไม่ทำทีละเล็กทีละน้อย กลับเลือกที่จะคิดใหญ่และทำใหญ่ ลงทุนในช่วงแรกสูง ทำให้เกิดต้นทุนจากการลงทุนและต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) นี่คือขัดต่อหลักคำสอนของพระองค์ท่าน เมื่อคิดใหญ่และลงทุนใหญ่ตามในระยะเริ่มต้น SMEs จำนวนมากถึงมีโอกาสรอดหรือยืนหยัดได้น้อยมาก บางรายล้มเหลวถึงขั้นที่ไม่อาจกลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง

ในทางกลับกัน การคิดใหญ่เป็นสิ่งที่ดี แต่หากรู้จักพอประมาณ เริ่มต้นลงทุนทีละเล็กทีละน้อย ต้นทุนในระยะก่อตั้งกิจการและต้นทุนคงที่ของกิจการจะอยู่ในระดับต่ำหรือในระดับที่ยอมรับได้ ทำให้เกิดผลดีต่อสภาพคล่องของกิจการ เพราะกระแสเงินสดไหลออกต่ำกว่ากระแสเงินสดไหลเข้า กิจการย่อมมีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สาเหตุที่ 2 ขาดการคิดอย่างมีเหตุและผล
ผู้ประกอบการ SMEs โดยมากเลือกที่จะทำก่อนคิด พูดก่อนคิด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ล้มเหลว เพราะไม่ได้พิจารณาเหตุและผล การลงทุนที่เกินตัว การยอมตัดราคาขายจนราคาขายต่ำกว่าทุนหรือเท่าทุนเพียงเพื่อหวังระบายสินค้าโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา การใช้อารมณ์และความรู้สึกมากกว่าเหตุและผลในการบริหารจัดการ

บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยใช้อารมณ์ในการตัดสินใจและบริหารจัดการมากกว่าเหตุและผล หรือหลักการที่ควรจะเป็น เช่น การพยากรณ์และประมาณการยอดขาย การประเมิน SWOT ขององค์กรจะคิดเข้าข้างตนเองเสมอ โดยใช้อารมณ์เอนเอียง เชื่อว่าตนเองหรือกิจการของตนเองดีกว่าเสมอ

จุดนี้จึงทำให้เมื่อคิดกลยุทธ์การตลาดหรือการแข่งขันต่าง ๆ จึงได้ผลลัพธ์ผิดไปจากที่คิดไว้มาก เพราะปราศจากหลักเหตุและผลที่ถูกต้อง แต่หากผู้ประกอบการ SMEs ไทยคิดอย่างมีเหตุมีผล ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ โดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกเข้าข้างตนเอง ใช้เหตุและผลเป็นตัวตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์ตลอดจนวิธีการดำเนินงานกิจกรรมทางธุรกิจ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลลัพธ์เชิงบวกและมีความใกล้เคียงกับเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมมากกว่า รวมไปถึงการบริหารทรัพยากรบุคลากรในองค์กร SMEs ไทยประสบปัญหาอย่างมากเรื่องของการเลือกที่รักมักที่ชัง หรือการเติบโตทางอาชีพที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมในองค์กร เกิดการไหลออกของบุคลากรที่มีความสามารถแต่ไม่ได้รับโอกาส เพราะไม่ได้บริหารคนแบบมีเหตุมีผล

การมอบโอกาสในหน้าที่การงานควรเลือกคนที่ใช่ ไม่ใช่คนที่ชอบ เพราะถ้าเลือกคนที่ใช่ย่อมรู้ดีว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นผลลัพธ์ที่ดีสำหรับองค์กรหรือกิจการ ปราศจากปัญหาการเมืองในองค์กร เพราะบุคคลนั้นเป็นที่ยอมรับในความสามารถ นี่คือการคิดแบบมีเหตุและผลตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน

สาเหตุที่ 3 ไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองหรือองค์กร

หรือกล่าวได้ว่าปราศจากภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การค้าเสรีเกิดขึ้นจำนวนมาก การเข้าร่วม AEC และการรวมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปในทิศทางที่รวดเร็ว ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวนมากคิดถึงการสร้างยอดขาย การประชาสัมพันธ์หรือการจัดโปรโมชันเพื่อเพิ่มยอดขาย แต่ปราศจากการส่งเสริมด้านการสร้างเกราะป้องกันทางธุรกิจ ปราศจากการเพิ่มความรู้ความสามารถหรือสมรรถนะในด้านการวิเคราะห์ การเข้าใจสถานการณ์สภาพแวดล้อม หรือความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงิน

เมื่อสถานการณ์สภาพแวดล้อมโลกและประเทศไทยเปลี่ยนแปลง SMEs ไม่สามารถปรับตัวและรับมือได้ บางกิจการต้องล้มละลาย บางกิจการต้องลดขนาดองค์กรลง หรือบางกิจการหนีหายจากความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทำได้ทั้งการเพิ่มสมรรถนะของตนเองและบุคลากรในการพัฒนาความรู้และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ถ่ายทอดไปยังบุคลากรอื่น ๆ ในองค์กรให้เสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านกระบวนการดำเนินงานในแต่ละวัน ตลอดจนการเข้าใจสภาพการณ์ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่องค์กรเกี่ยวข้องเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งย่อมกระทบกับบางสิ่ง ถ้าเข้าใจและมีความพร้อมที่จะรับมือเมื่อปัญหาเกิดขึ้นย่อมแก้ไขได้โดยง่าย หรืออย่างน้อยที่สุดคือ การมีสติที่พร้อมจะเผชิญปัญหาซึ่งเป็นสมรรถนะหลักที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรมี

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี จึงทำให้องค์กรรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี กิจการหรือองค์กรมีความมั่นคงต่อสถานการณ์ที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงสม่ำเสมอ นำไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน

จะเห็นได้ว่า แนวคิดพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development) อันเป็นแนวคิดที่ฝรั่งในชาติตะวันตกกำลังมุ่งไปสู่เรื่องนี้เป็นสำคัญและถูกกำหนดให้เป็น EU Strategy ปี 2020

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการพระราชดำริแนวคิดนี้ก่อนล่วงหน้าหลายปี และพระราชทานให้ลูกหลานปวงชนชาวไทยของพระองค์ท่านให้เป็นแนวคิด หลักยึดเหนี่ยว การปฏิบัติในการดำรงชีพและประกอบอาชีพที่สุจริตตามรอยพระองค์ท่าน

ถึงแม้ว่า 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา วันที่จะเป็นที่จดจำของคนไทยและประชาคมโลก วันที่พระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคตจะผ่านไปเพียงใด หัวใจของประชาชนชาวไทยยังคงมีพระองค์ท่านสถิตอยู่กลางดวงใจเป็นนิรันดร์ ณ โอกาสนี้ผมจึงใช้พื้นที่นี้บรรยายถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน เพื่อให้ลูกหลานประชาชนชาวไทยได้เห็นและรับรู้ถึงคุณงามความดีที่หาที่เปรียบมิได้ ตลอดจนพระเมตตาที่พระองค์ท่านมีต่อพวกเรา

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ดร. ปุญญภณ เทพประสิทธิ์