เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

จับตาเบียร์คราฟท์ : ธุรกิจเกิดใหม่ของเวียดนาม โอกาส 2 เด้งของผู้ผลิตเบียร์ไทย (ตอนจบ)

จับตา เบียร์คราฟท์ : ธุรกิจเกิดใหม่ของเวียดนาม โอกาส 2 เด้งของผู้ผลิตเบียร์ไทย (ตอนจบ)

เขียนโดย กฤษฎาพร วงศ์ชัย

จากตอนที่แล้ว หลายๆคนคงพอเห็นภาพศักยภาพของตลาดเบียร์คราฟท์ ในโฮจิมินห์กันไปแล้ว ตอนที่ 2 นี้เราจะมาชี้ช่องสำหรับผู้ประกอบการไทยที่คิดจะเข้าไปแสวงหาโอกาสในตลาดนี้กันว่า โอกาส 2 เด้งที่จะได้จากโฮจิมินห์นี้หอมหวานขนาดไหน

จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์ พบว่า เจ้าของร้านเบียร์คราฟท์ส่วนใหญ่ในนครโฮจิมินห์จะเป็นชาวต่างชาติหรือเป็นชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่กลับมาดำเนินธุรกิจในเวียดนามเกือบทั้งสิ้น เนื่องจากมีประสบการณ์การผลิตเบียร์คราฟท์ในประเทศของตนมาแล้ว แถมยังมีเงินทุนตั้งต้นจำนวนหนึ่ง โดยแต่ละร้านใช้เงินลงทุนประมาณหลักแสนถึงล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณความสามารถในการผลิตของร้าน ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่สามารถหาได้ในประเทศเวียดนาม และนำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน

และที่สำคัญผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ในเวียดนามมักจะสร้างเครือข่ายที่แนบแน่นระหว่างกัน และใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวกลางสื่อสารไปยังหมู่วัยรุ่นและชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคเอกชนมีการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ Sai Gon Craft Beer Festival ซึ่งจัดเป็นประจำทุก 3 – 4 เดือน ซึ่งในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน กิจกรรมทัวร์จิบเบียร์คราฟท์ (1 Day Trip Beer Tour) ในนครโฮจิมินห์ และกิจกรรมการเยี่ยมชมโรงงานการผลิตเบียร์คราฟท์ เป็นต้น

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

เจ้าของร้านเบียร์คราฟท์หลาย ๆ ท่านในนครโฮจิมินห์ ล้วนเห็นตรงกันว่าการทำธุรกิจเบียร์คราฟท์ในเวียดนามมีขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก และตลาดยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากผู้ผลิตเบียร์ทุกรายต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ได้ลองดื่มเบียร์คราฟท์แล้ว ต่างต้องกลับมาดื่มอีก 5-6 ครั้ง/สัปดาห์ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่สามารถกลับไปดื่มเบียร์แบบธรรมดาได้อีก

และที่สำคัญ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตในหลายประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย อาทิ Heart Of Darkness และ Pasteur Brewing Street ยังได้ส่งออกผลิตภัณฑ์เบียร์คราฟท์ไปขายในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงไทยอีกด้วย และเบียร์คราฟท์ไทยหลาย ๆ เจ้า เช่น ลำซิ่ง และโกลเด้น คอยน์ ยังได้จ้างให้ผู้ผลิตชาวเวียดนามผลิตเบียร์คราฟท์บรรจุขวด/ บรรจุถัง และส่งออกกลับมาขายในประเทศไทย เนื่องจากในประเทศไทยยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังไม่เปิดกว้างให้ผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตต่อปีน้อย สามารถผลิตเบียร์คราฟท์ได้อย่างถูกกฎหมาย

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

และด้วยเหตุผลสนับสนุนทั้งหมดทั้งมวลนี้อุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ในภาคใต้ของเวียดนามจึงยังมีโอกาสอีกมากถึงสองเด้ง กล่าวคือทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและฐานในการส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้วยผู้บริโภคชนชั้นกลางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนต้นทุนที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ และกฎหมายที่เปิดกว้าง น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมและตอบโจทย์ผู้ที่อยากริเริ่มธุรกิจเบียร์คราฟท์/ ผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ในประเทศไทยที่กำลังมองหาแหล่งการผลิตที่มีศักยภาพและตลาดนักดื่มที่มีความคุ้นเคย

นอกจากนี้ ยังมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ เช่น ไทย สปป. ลาว จีน และประเทศตะวันตกผ่านทางทะเล จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดเบียร์คราฟท์เวียดนาม การจ้างผลิตในลักษณะ OEM หรือการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตภายในเวียดนามเพื่อขายภายในประเทศและการส่งออก

เห็นได้ว่า โอกาสที่รออยู่ก็พอที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนทั้งหลายเทใจมาที่โฮจิมินห์แห่งนี้ไม่ยาก แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ง่าย เพราะยิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้ง่าย คู่แข่งก็มากขึ้นเช่นกัน

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

 

ที่มา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ