เริ่มแล้ว!! รัฐฯ โครเอเชียช่วยหนุนราคาน้ำมัน หลังราคาแตะสูงสุดในรอบ 10 ปี ด้านไทยยังหารือ ก๊าซเบนซิน โซฮอล์พุ่งสูง

 

 

โครเอเชีย ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของตัวเอง มีอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ครบวงจร แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาปริมาณการบริโภคภายในประเทศนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำนวนมาก บวกกับสถานการณ์ตึงเครียดของรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงต้องเข้าช่วยอุดหนุนเพื่อบรรเทาภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชน

 

โครเอเชียมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดิบเอง และการพึ่งพานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่ที่ 20 : 80 โดยเป็นการพึ่งพานำเข้าจากรัสเซียมากที่สุดถึง 40-50%  

 

สำหรับในส่วนการผลิต และนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ๆ อยู่ในสัดส่วน 50 : 50 ซึ่งเป็นการนำเข้าปิโตรเลียมจากโรงกลั่นของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี  สโลวีเนีย และฮังการี

 

หมายความว่าในสถาการณ์ปัจจุบัน โครเอเชียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการได้ที่รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าน้ำดิบของรัสเซีย หรือ ผลจากการนำเข้าน้ำมันประเภทอื่น ๆ จากประเทศสหภาพยุโรปที่รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งถือเป็นโดมิโน่เศรษฐกิจที่โครเอเชียไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

 

ปัจจุบันระดับราคาน้ำมันในโครเอเชียถือเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่ปี 2012) ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีโครเอเชีย Andrej Plenković ได้ประกาศอนุมัตินโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันในประเทศ ด้วยนโยบายการกำหนดการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และกำหนดเพดานค่าการตลาดต่อลิตรสำหรับผู้ค้าปลีกน้ำมัน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น เป็นเวลานาน 90 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2022 – 6 มิถุนายน 2022 ซึ่งการกำหนดดังนี้

 

  1. ลดการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลดลง แบ่งออกเป้น

– น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ลดลง 0.4 คูน่า/ลิตร (หรือประมาณ 1.93 บาท/ลิตร) 

– น้ำมันดีเซล ลดลง 0.2 คูน่า/ลิตร (หรือประมาณ 0.97 บาท/ลิตร)

 

ซึ่งเดิมทีรัฐบาลโครเอเชียไม่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อการเกษตรอยู่แล้ว ทำให้มีการประเมินในเบื้องต้นว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ลดลงไปกว่า 150 ล้านคูน่า หรือราว 724.79 ล้านบาท

 

2.กำหนดเพดานค่าการตลาดต่อลิตรสำหรับผู้ค้าปลีกน้ำมัน

โดยมีข้อกำหนดว่า ไม่ว่าราคาต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ สถานีปั้มน้ำมันจะสามารถบวกค่าการตลาดในการค้าปลีกให้กับผู้บริโภคได้ตามรัฐบาลกำหนดเท่านั้น โดยน้ำมันดีเซลและเบนซิน สามารถเพิ่มค่าการตลาดได้อยู่ที่ 0.75 คูน่า/ลิตร (หรือประมาณ 3.62 บาท/ลิตร) และน้ำมันดีเซลสำหรับการเกษตร 0.5 คูน่า/ลิตร (หรือประมาณ 2.8 บาท/ลิตร)

 

ซึ่งวิธีนี้รัฐบาลโครเอเชียมองว่าจะสามารถช่วยปั๊มน้ำมันให้ยังพอมีผลกำไร และพยุงธุรกิจต่อไปได้เพียงระยะสั้น ซึ่งหลังจากเลยช่วงวันที่กำหนด รัฐบาลก็จะปล่อยให้ราคาค้าปลีกน้ำมันสูงขึ้นตามราคาสถานการณ์โลก เนื่องจากในระยะยาวอาจสร้างความเสี่ยงล้มละลายต่อกิจการปั๊มน้ำมันขนาดเล็กจากปัญหาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในขณนี้ ถือว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ และกินระยะเวลาไปอีกไม่น้อย เนื่องจากการเจราจาหาข้อตกลงร่วมกันถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ และคาดว่าในอนาคตจะมีอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มสหประชาชาติที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียต่อไป โดยจะเป็นการตัดขาดการน้ำเข้าสินค้าที่รัสเซียเป็นผู้ค้าส่งออกพลังงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน 

 

และแน่นอนว่าเจ้าตลาดน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียนั้น หากถูกระงับการส่งออกน้ำมัน หรือพลังงานสำคัญต่าง ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกเช่นกัน ทำให้จากการประชุมของบรรดาผู้นำ EU ในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา มีหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และฮังการี มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นการส่งผลกระทบให้ประชาชนทั่วโลกลำบากมากขึ้นเสียเอง ทั้งปัญหาภาระค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น และเกิดวิกฤติขาดแคลนพลังงาน

 

ซึ่งโดยส่วนใหญ่บรรดาสมาชิก EU นั้นมีดัชนีการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศต่ำ และต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกว่า 40% น้ำมันกว่า 27% รวมถึงถ่านหินเกือบ 50% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

 

สำหรับทางด้านประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 30 บาท/ลิตร และทางกองทุนน้ำมันอุดหนุนส่วนต่างราคาพลังงานเชื้อเพลิงให้ประชาชนไปแล้ว 2.3 หมื่นล้านบาท และเพิ่มวงเงินจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 4 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลาในการช่วยเหลือประชาชนในระยะเวลานานขึ้น ในขณะเดียวกันน้ำมันกลุ่มก๊าซเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ยังคงไม่ได้รับการควบคุมจากภาครัฐ ทำให้ราคายังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่งคาดว่าวิตกฤตที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าวยังไม่จบในเร็ววัน การขาดแคลนพลังงานอาจกำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับโลก ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกต่างกำลังขอความร่วมมือจากภาคประชาชนในตอนนี้ คือ ต้องช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากที่สุด