เปิดเหตุผลว่าทำไม TOT ให้ DTAC เป็นคู่ค้าคลื่นความถี่ 2300 MHz

ลุันกันมาอย่างยาวนานกับการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ 2300 MHz จนสุดท้ายดีแทคก็ได้กลายเป็นคู่ค้าในการให้บริการ จากผู้สนใจส่งข้อเสนอในการเป็นคู่ค้าถึง 6 ราย และผลจากการเลือกนี้ก็ทำให้ผู้บริหารและพนักงานดีแทคถึงกับโล่งใจไปตามๆ กัน

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และประธานกรรมการเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าตามแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กล่าวว่า ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มดำเนินการคัดเลือกและเจรจาคู่ค้าตามแผนธุรกิจฯ มาตั้งแต่ 27 มี.ค. 60โดย มีผู้สนใจส่งข้อเสนอในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 6 ราย

ประกอบด้วย 1.บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3. บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด 4.กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 5.บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด และ 6.TUC RMV for 2300 MHz Consortium

“บริษัท ที่ปรึกษาคือบริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด และบริษัท ไพร์มสตรีทแอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พิจารณาข้อเสนอทั้ง 6 ราย จากคุณสมบัติพื้นฐานทางด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค อาทิ พื้นที่ครอบคลุม จำนวนสถานีฐาน การรองรับการให้บริการ (Coverage และCapacity) และด้านการเงิน และผลตอบแทน โดยกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดทั้งด้านเทคนิค และการเงิน”

กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ ทีโอที เช่าใช้งาน ซึ่ง บมจ.ทีโอที เป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเองและ ทีโอที จะให้บริษัทในกลุ่มฯ ใช้บริการ โดยจ่ายค่าตอบแทนสุทธิให้ ทีโอที ปีละ 4,510 ล้านบาท สำหรับการใช้งานโครงข่ายร้อยละ 60

สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทีโอที จะร่วมกับกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในการจัดทำร่างสัญญาทำธุรกิจร่วมกัน โดยสัญญาจะเป็นไปตามกฎหมาย หลักเกณฑ์และหรือประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องและจะนำเสนอคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้สำนักงานอัยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพี่อให้ความเห็นในด้านกฏหมาย ซึ่ง ทีโอที คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นไตรมาสที่ 4

สำหรับแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz นี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจโดยการพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ 4G สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและแผนพลิกฟื้นองค์กรโดยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่