เช็คก่อนซื้อ! เจาะฐานะการเงิน 5 ประกันฯ รายใหญ่ ยอดเคลมโควิด-19 พุ่ง หวั่นกดสภาพคล่องลดฮวบ

สัปดาห์ที่แล้ว ‘สินมั่นคง’ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ หลังประกาศยกเลิกคุ้มครองลูกค้าประกันโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ร้อนถึง คปภ.ต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน และออกคำสั่งให้ สินมั่นคง กลับมาคุ้มครองลูกค้าเหมือนเดิม
.
สาเหตุมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงเกินไป จนทำให้บริษัทฯ ประกันภัยเริ่มกังวลถึงสภาพคล่อง เพราะประกันจำเป็นต้องมีเงินกองทุนให้เพียงพอตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. (ไม่อย่างนั้น อาจถูกสั่งให้หยุดขายกรมธรรม์ประกันวินาศภัย)
.
#วิกฤติเริ่มบังเกิด
ในปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คปภ.กำหนดระบบสัญญาณเตือนภัยเพื่อวิเคราะห์ฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 120% , ส่วนของผู้ถือหุ้นหรือส่วนของสำนักงานใหญ่ต้องมากกว่า 50 ล้านบาท และยังมีอีกหลายเงื่อนไข ซึ่งจะคำนึงถึงปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของประกันภัยในตอนนั้น
.
และสิ่งที่ทำให้ประกันภัยเจ็บหนักไปตามๆกัน มาจาก ตัวเลขเคลมประกันโควิด-19 โดยครึ่งปีแรกของปี 2564 สูงถึง 1,700 ล้านบาท จากสิ้นเดือนมี.ค.2563 อยู่ที่ 170.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดระลอก 3 จำนวน 1,500 ล้านบาท
.
หนำซ้ำยอดประกันโควิดนับวันยิ่งสูงขึ้นตามจำนวนการติดเชื้อ โดยครึ่งปีแรกมีลูกค้ารายใหม่และที่ต่ออายุแล้วกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ สูงกว่าปีก่อน และมียอดเบี้ยประกันเกินกว่า 4 พันล้านบาท
.
ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะคำนึงถึงความคุ้มค่า หากจำนวนผู้เคลมสูงมากเกินไป จะไม่ส่งผลดีต่อฐานะการเงิน และผลประกอบการ นำไปสู่การขอยกเลิกกรมธรรม์ในที่สุด
.
#ประกันภัยรายใหญ่สภาพคล่องยังดี
จากการที่ ‘The business+’ ได้ตรวจสอบข้อมูลงบการเงิน และงบฐานะการเงินครึ่งปีแรกปี 2564 ของ 5 บริษัทประกันภัยรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงมีสภาพคล่องสูง ทุกบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ (ส่วนทุน) มากกว่า 50 ล้านบาท และเงินสดเป็นบวก
หากเรียงจากมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) 5 อันดับแรกประกอบด้วย บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) และบมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) “ทั้ง 5 บริษัทฯ ยังคงเปิดให้ความคุ้มครองลูกค้าประกันโควิด-19 เหมือนเดิม”
.
#เงินสดสุทธิเป็นลบ2ใน5
ในส่วนของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิของงวด กรุงเทพประกันชีวิต , ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ,กรุงเทพประกันภัย ยังคงเพิ่มขึ้น
.
แต่ เครือไทย โฮลดิ้งส์ และทิพยประกันภัย ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าในงวดไตรมาส 1 ปี 2564 กระแสเงินสดของบริษัทฯ เริ่มลดน้อยลง (แต่ในส่วนของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสิ้นงวดยังเป็นบวกทุกบริษัทฯ)
.
– เครือไทย โฮลดิ้งส์ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงสุทธิ 431.63 ล้านบาท
– ทิพยประกันภัย เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงสุทธิ 927.31 ล้านบาท
.
#หนี้สินเริ่มพุ่ง
ขณะที่กรุงเทพประกันชีวิต ,เครือไทย โฮลดิ้งส์ และทิพยประกันภัย มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบริษัทฯ ประกันภัยรายอื่น แสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 บริษัทฯ มีหนี้สินที่สูงกว่าส่วนทุนของบริษัทหลายเท่าตัว (พูดง่ายๆ คือ มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่ารายอื่น)
– กรุงเทพประกันชีวิต 6.35 เท่า
– เครือไทย โฮลดิ้งส์ 5.85 เท่า
– ทิพยประกันภัย 4.07 เท่า
.
ในส่วนของอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่เป็นตัวบ่งบอกว่า บริษัททำผลตอบแทนได้มากแค่ไหนเมื่อเทียบกับทุนที่มี พบข้อมูลว่า 5 ยักษ์ใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ คปภ. กำหนด แต่ในส่วนของ กรุงเทพประกันชีวิต ,กรุงเทพประกันภัย และ เครือไทย โฮลดิ้ง ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทฯ อื่นในกลุ่ม
– กรุงเทพประกันชีวิต 5.44%
– ทีคิวเอ็ม 28.46%
– กรุงเทพประกันภัย 9.29%
– เครือไทย โฮลดิ้ง 9.27%
– ทิพยประกันภัย 26.55%
.
จากข้อมูลที่ไล่เลียงมาทั้งหมด จะเห็นว่า 5 บริษัทฯ ประกันภัยในตลาดหุ้น ยังมีความพร้อมในด้านฐานะการเงิน และสภาพคล่อง ตามเกณฑ์ ถึงแม้หนี้สินจะเริ่มสูงแต่ไม่น่าเกลียดสำหรับบริษัทฯประกัน (อย่างน้อยก็สามารถทำให้ผู้อ่านสบายใจไปได้เปราะหนึ่ง)
.
แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงและหากผู้เคลมประกันยังไม่มีทีท่าจะลดลง ประกันภัยต้องแบกรับภาระการจ่ายค่าสินไหม (เงินที่ประกันจะจ่ายให้กับผู้ป่วย) หนักขึ้น ดังนั้น ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดยิ่งทวีความรุนแรงก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของประกันภัยมากขึ้นเท่านั้น
.
ถึงแม้ปกติแล้วธุรกิจประกันภัยจะมีอัตรากำไรสุทธิสูง สร้างผลตอบแทนได้ดี แต่เมื่อเจอกับโรคระบาดรุนแรง “ย่อมมีผลเสีย มากกว่าผลดี” ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่บริษัทฯ ประกันภัยต้องเรียนรู้ที่จะสำรองเงิน และรักษาสภาพคล่องเอาไว้ใช้ต่อสู้กับวิกฤติการณ์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “ซ้ำรอยเดิม”
.
หุ้นไทย #businessplus #ตลท #ตลาดหลักทรัพย์ #ประกันภัย #ประกันโควิด-19 #ประกันโควิด #COVID
ที่มา : SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC