เจาะจุดแข็ง ‘Big Tech’ สัญชาติจีน Alibaba ดีจริง หรือ ผูกขาด

รัฐบาลจีนสร้างความงุนงงให้กับนักลงทุนทั่วโลก เมื่อสั่งเบรกหุ้นไอพีโอของ Ant Group เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทั้งที่มีโอกาสเป็น IPO ใหญ่ที่สุดของโลก และสาธารณชนยิ่งงงมากขึ้นเมื่อรัฐบาลกลางของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่หยุดแค่ Ant Group ของ แจ็ก หม่า แต่กลับเดินหน้ากำราบบรรดา ‘Big Tech’ ซึ่งถือเป็นธุรกิจ ‘แชมเปี้ยน’ ของประเทศตัวเอง

ทั้ง โพนี หม่า (หม่า ฮั่วเถิง) ผู้ก่อตั้ง Tencent และ ไซม่อน หู่ ประธานบริหารของ Ant Group ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึง โคหลิน หวัง ที่จู่ ๆ ประกาศลงจากตำแหน่งประธาน Pinduoduo (พินตัวตัว) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน Pinduoduo ได้แถลงข่าวว่าสามารถเอาชนะ Alibaba ในจำนวนผู้ซื้อผ่านแพลตฟอร์มได้สำเร็จ

การค้นหาคำตอบล่าสุดพบว่า 3 เหตุผลใหญ่จากปฎิบัติการเล่นงาน Big Tech ประกอบด้วย 1. รัฐบาลจีนต้องการลดการผูกขาดของธุรกิจ 2. รัฐบาลจีนจะไม่สนับสนุนบริษัทที่เป็นแชมเปี้ยนในประเทศที่เอาชนะรัฐวิสาหกิจในธุรกิจเดียวกันได้อย่างราบคาบ แต่ไม่สามารถเอาชนะในตลาดต่างประเทศได้

ดังนั้น สิ่งที่ Big Tech ของจีนต้องทำ เพื่อให้อยู่รอดคือ ต้องรุกออกไปนอกบ้านและไปรบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐและยุโรปในตลาดทั่วโลก

3. ปฏิบัติการกำราบ Big Tech ของรัฐบาลจีน เป็นเกมการเมืองของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีน ในเจนเนอเรชันต่อไปเอาชนะเหนือคู่แข่งในโลก จากร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์การการค้าโลก จะมีการตรากฎระเบียบของเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้น ดังนั้น ประเทศที่มีกฎหมายที่เข้มแข็งในเรื่องข้อมูลก็จะมีพลังเป็นผู้นำโลกได้

การกำราบ Big Tech ของรัฐบาลกลางจีนน่าจะสร้างความงุนงงให้กับสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลอเมริกันของทั้งทรัมป์และไบเดน มีนโยบายสกัดบิ้กเทคของจีนในเวทีโลก ด้วยการสลายความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทเทคโนโลยีของจีนและตลาดประเทศตะวันตกอยู่แล้ว แต่จู่ ๆ Big Tech ของจีนก็โดนรัฐบาลตัวเองเล่นงาน

บทวิเคราะห์จากเว็บ imd.org เขียนโดยศาสตราจารย์ Howard H. Yu และ Jialu Shan เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่า ปกติแล้วทางการจีนสนับสนุนกิจการที่เป็นแชมเปี้ยนของประเทศ เห็นได้จากการสนับสนุนที่ Huawei และ TikTok ได้รับ รวมทั้งนโยบายการลงทุนที่บังคับให้ต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทของจีนด้วย แต่ทางการจีนกลับมาเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Alibaba ซึ่งโดนทางการจีนถามว่า ‘ความสำเร็จทางธุรกิจนั้นเกิดจากโมเดลทางธุรกิจของบริษัทคุณ หรือเกิดจากการผูกขาดตลาดกันแน่ ?’

รัฐบาลจีนเล่นงานบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของตัวเอง ทั้งที่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังเดินหน้ากดดันบริษัทเทคโนโลยีของจีนอยู่เช่นกัน โดยไบเดนสั่งให้คณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐ (CFIUS) จัดการยกเลิกความตกลงร่วมมือกันระหว่างบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันกับจีนที่จะกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐ

คงจำกันได้ว่า CFIUS นี้เอง ได้สั่งห้ามบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิเซส กรุ๊ป (แอนท์ ไฟแนนเชียล) เข้าซื้อบริษัท MoneyGram International ซึ่งเป็นบริษัทโอนเงินในปี 2018 เนื่องจากข้อมูลของ MoneyGram เป็นข้อมูลแบบระบุตัวตนได้ จึงทำให้ CFIUS เกรงว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ เพื่อการระบุตัวตนประชากรสหรัฐจากบริษัทจีนได้ หลังจากนั้น CFIUS ยังทำหน้าที่สกัดบริษัทเทคโนโลยีของจีนอีกมากมายไม่ให้เข้าไปลงทุนในสหรัฐ

แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ซึ่งมักต่อว่าสหรัฐอเมริกาที่จัดการกับบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่างไม่เป็นธรรม แต่กลับมาจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีของตัวเองได้ สร้างความงุนงงให้กับนักลงทุนและนักธุรกิจชาวอเมริกันไม่น้อย ซึ่งนักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนทำไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามากนัก ต่างกันตรงที่ความเด็ดขาดของรัฐบาลจีนมีมากกว่ารัฐบาลของโลกประชาธิปไตย

เขียน : วิชัย สุวรรณบรรณ

#BigTech #จีน #alibaba #การค้า #businessplus