เงินเฟ้อเท่ากัน แต่เจ็บตัวไม่เท่ากัน!! วิกฤตที่ผู้ผลิตต้นน้ำไม่ต้องแบกรับเท่าปลายน้ำ

ปัญหาด้านเงินเฟ้อทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 8.6% (พ.ค.2565) ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ด้านประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของไทยอยู่ที่ 7.1% (พ.ค. 2565) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี

ปัญหาหลัก ๆ ของเงินเฟ้อเกิดจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
– อุปสงค์ในสินค้ามากกว่าอุปทาน จากการเปิดเมืองของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดเพิ่มสูงขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตามความต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในช่วงที่ต้องปิดตัวจากมาตรการ COVID-19 (เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาสินค้าจึงพุ่งสูงขึ้น)

– ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบในเร็ว ๆ นี้ (รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออก Petroleum oil อันดับ 1 ของโลก)

– ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งที่เกิดจากปัญหาระยะสั้น อย่างเช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เรือ คนขับรถบรรทุก รวมไปถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ

โดยที่ปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ทางสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินแบบหดตัวเพื่อลดความร้อนแรง (เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)

ส่วนของบ้านเรานั้น ยังไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามตลาดโลกได้ สาเหตุมาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรายังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าเป้าหมายของ ธปท. ที่ตั้งร่วมกับรัฐบาลคือการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ก็ตามที แต่ปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปทานไม่สามารถแก้ได้ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งความเชื่อมั่นในภาครัฐของบ้านเราก็ดูเหมือนจะน้อยลงทุกที

นั่นทำให้ประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อไปอีกยาวนาน ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงหรือผันผวนจะสร้างความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนการใช้จ่าย และหนักที่สุดคือผลกระทบต่อภาคธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ ยิ่งไปกว่านั้นคือผลกระทบไปถึงค่าแรงที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นตาม เพราะจะมีเรื่องของการต่อรองค่าแรงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็ยังได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างธุรกิจ

โดยกลุ่มส่งออกอาหารซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ เช่น ฟาร์ม เกษตรกรรมต่าง ๆ ในช่วงแรกอาจจะได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสูงสุด เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถกำหนดราคาได้เองตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มอาหารที่เป็นกลุ่มปลายน้ำ เพราะไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ และได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (วัตถุดิบที่มาจากต้นน้ำราคาสูงขึ้น) และส่งผลต่ออัตราการทำกำไรหากไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นตามต้นทุนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเงินเฟ้อเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นผู้ผลิตต้นน้ำอาจจะถูกควบคุมราคาโดยการแทรกแทรงกลไกตลาดจากภาครัฐ เช่น กำหนดราคาขาย นั่นทำให้ผู้ผลิตต้นน้ำอาจไม่ได้รับปัจจัยบวกอีกต่อไป

ส่วนผู้ผลิตปลายน้ำเมื่อเงินเฟ้อยาวนานขึ้นจะนำมาสู่ผลกระทบด้านยอดขาย เพราะเมื่อปรับราคาขายสินค้าขึ้น ก็จะทำให้คนซื้อสินค้าน้อยลง

หากเป็นสินค้าจำเป็นอย่างเช่น อาหาร ยา ผู้ผลิตปลายน้ำอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน แต่อาจลดปริมาณลงไปบ้างเล็กน้อย

และถ้าหากเป็นสินค้าทดแทนกันได้ อย่างเช่น เนื้อไก่ กับเนื้อหมู หรือ โค้ก กับเป๊บซี่ หากสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งขึ้นราคา สินค้าอีกประเภทก็จะปรับราคาขึ้นตามจึงไม่ได้รับผลกระทบต่อยอดขายมากนัก

แต่ผลกระทบหลัก ๆ จะไปลงอยู่ที่สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับ เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องสำอาง และน้ำหอม รวมไปถึงวิดีโอเกม ซึ่งจะถูกชะลอการซื้อลงในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เพราะประชาชนต้องการรัดเข็มขัด หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อแทน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : ธปท.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินเฟ้อ