บทความโดย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

ดาต้าเบส: คิดใหม่-ทำใหม่ เหตุผลห้าประการที่ทำให้ DBaaS เป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ข้อมูลปริมาณมากที่องค์กรสร้างขึ้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ในอดีตข้อมูลหนึ่งเพตาไบต์ถือเป็นข้อมูลปริมาณที่สูงมาก และก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ เพราะเทียบเท่ากับตู้เก็บเอกสารทรงสูงราว 20 ล้านตู้ หรือข้อความที่พิมพ์บนหน้าเอกสารขนาดมาตรฐาน 500,000 ล้านหน้า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่องค์กรจะต้องบริหารจัดการข้อมูลหลายสิบหรือหลายร้อยเพตาไบต์ ซึ่งอยู่ในดาต้าเบสที่หลากหลาย ทำให้ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลและทรัพยากรต่าง ๆ จำนวนมาก เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ปริมาณข้อมูลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากยังนำระบบแบบดั้งเดิมมาใช้บริหารจัดการดาต้าเบสก็ย่อมจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้น เพราะระบบรุ่นเก่าให้การตอบสนองช้า ประสิทธิภาพการทำงานไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้การดำเนินงานโดยรวมขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากดาต้าเบสมีบทบาทสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ จึงต้องมองหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อใช้จัดการดาต้าเบสได้อย่างเหมาะสม

ความเรียบง่ายของดาต้าเบส

รายงานวิจัยของไอดีซีระบุว่า ในการใช้งานดาต้าเบสนั้น เป็นการใช้ดาต้าเบสที่ติดตั้งอยู่ภายในองค์กรราว 75 เปอร์เซ็นต์[1] ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น่าประหลาดใจ เพราะข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร และองค์กรต่าง ๆ ย่อมต้องการที่จะเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญที่สุดไว้ใกล้ตัว แต่หากธุรกิจให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแล้ว การใช้บริการด้านดาต้าเบส (Database-as-a-Service: DBaaS) จะช่วยให้องค์กรสามารถตั้งค่าและจัดการดูแลดาต้าเบสของตนได้อย่างไม่ยุ่งยาก DBaaS สามารถรองรับระบบงานอัตโนมัติและการจัดการตนเองได้ ไม่ว่าดาต้าเบสนั้นจะทำงานอยู่บนระบบใดก็ตาม

ห้าเหตุผลสำคัญที่องค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นควรจะพิจารณาใช้ DBaaS

 1) ลดปัญหาการหยุดทำงานของระบบ

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความท้าทายต่อธุรกิจมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน การติดตั้งแพตช์เพื่อแก้ไขช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมไอทีแบบเดิม อาจทำให้ระบบต้องหยุดทำงานเป็นเวลานาน รายงานวิจัยของฟอเรสเตอร์คอนซัลติ้งที่สนับสนุนโดยนูทานิคซ์ประเมินว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายราว 35,000 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงอันเนื่องมาจากการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน การสูญเสียรายได้ และผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่ตามมา[2] เช่น การติดตั้งแพตช์ด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาระบบของสายการบินแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ทำให้ระบบหยุดทำงานและตัดการเชื่อมต่อนานถึง 14 ชั่วโมงต่อการอัปเดตแต่ละครั้ง และนั่นหมายถึงไม่สามารถจำหน่ายตั๋วเครื่องบินได้ในช่วงเวลานั้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ การใช้ DBaaS จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดูแลจัดการดาต้าเบสหลากหลายได้แบบรวมศูนย์ ซึ่งสามารถกระจายแพตช์ไปยังดาต้าเบสทั้งหมดได้โดยอัตโนมัติ และรวดเร็วขึ้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ซึ่งในหลาย ๆ กรณี สามารถติดตั้งแพตช์ได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และหากเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ การใช้งาน DBaaS จะช่วยให้องค์กรสามารถกู้คืนดาต้าเบสได้ทันที และช่วยให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติ

 2) ลดงบประมาณ ค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากร

รายงานวิจัยของไอดีซีชี้ว่า องค์กรเกือบสามในสี่ (73 เปอร์เซ็นต์) ใช้เครื่องมือและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับดาต้าเบสที่อยู่ในองค์กรและดาต้าเบสที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานไอที และคลาวด์แตกต่างกัน[3] ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้บริษัทต้องจัดซื้อเครื่องมือที่ซ้ำซ้อนและต้องคอยให้การดูแลรักษาเครื่องมือเหล่านั้น แต่ยังลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานด้วย เช่น ผู้จัดการด้านดาต้าเบสต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อสร้างและดูแลดาต้าเบสต่าง ๆ ทั้งนี้ฟอเรสเตอร์ได้รายงานว่า ทีมผู้ดูแลดาต้าเบส (Database Administrator – DBA) มักจะต้องทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ทันเวลา

รายงาน Forrester’s Total Economic ImpactTM of Nutanix Era ระบุว่าองค์กรจะสามารถลดการทำงานล่วงเวลาดังกล่าวได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่เปลี่ยนไปใช้โซลูชันการบริหารจัดการดาต้าเบสที่ใช้งานง่ายกว่า[4] นอกจากนี้ผู้ดูแลดาต้าเบสมักจะจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณด้านฮาร์ดแวร์สำหรับดาต้าเบสมากเกินจำเป็น เพื่อเผื่อไว้สำหรับการขยายตัวของดาต้าเบสในอนาคต แต่หากใช้ระบบ DBaaS ซึ่งสามารถปรับขนาดการทำงานได้ตามต้องการและในเวลาที่ต้องการแล้ว ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะหมดไป ฟอเรสเตอร์ประเมินว่า องค์กรจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (ROI) โดยรวม 291 เปอร์เซ็นต์ หากเปลี่ยนไปใช้ Nutanix Database Service[5]

 3) จัดหาบุคลากรที่มีความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

รายงานวิจัยของฟอเรสเตอร์ชี้ว่า บริษัทต่าง ๆ พบว่าบริษัทฯ มีความท้าทายในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีชุดทักษะด้านการจัดการดูแลดาต้าเบสระบบเก่า[6] เพราะเมื่อใดก็ตามที่พนักงานที่มีประสบการณ์ลาออกหรือเกษียณ ความรู้ความสามารถของเขาเหล่านั้นก็จะหายไปจากองค์กรด้วยทันที เกิดช่องว่างระหว่างการเปลี่ยนแปลง และตามมาด้วยปัญหาด้านคุณภาพของบุคลากร ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen Z เริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนรุ่นนี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและคาดหวังว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น ดังนั้นองค์กรจึงต้องนำเทคโนโลยีที่ทำงานบนคลาวด์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและใช้งานง่ายที่สุดมาใช้ เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ไว้กับบริษัท

 

4) ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า

การที่องค์กรต่าง ๆ ตั้งเป้าที่จะก้าวนำหน้าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ มากขึ้น ดาต้าเบสต่าง ๆ คือขุมทองของข้อมูลลูกค้า และเทคโนโลยีใหม่ต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) สามารถช่วยให้ธุรกิจเข้าใจข้อมูลนี้ เช่น ช่วยให้สามารถตรวจสอบรูปแบบของข้อมูล ตรวจสอบได้ว่าข้อมูลมีลักษณะผิดปกติอย่างไรหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยการทำงานแบบแมนนวล อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AI และ ML ทำงานได้ดีที่สุดบนคลาวด์ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับดาต้าเบสที่ติดตั้งภายในองค์กรจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป การย้ายดาต้าเบสไปไว้บนคลาวด์และใช้ DBaaS ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่ต้องการติดตามพฤติกรรมของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ และตามติดทันเทรนด์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าที่ทรงคุณค่า

5) เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

รายงานการคาดการณ์ของ IDC ประจำปี 2565 ระบุว่า ภายในปีนี้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกจะพึ่งพาหรือได้รับอิทธิพลจากดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลโดยตรงจะเร่งให้เกิดอัตราการเติบโตต่อปีที่ 18 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2567[7] การนำ DBaaS มาใช้ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงงานด้านอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นดิจิทัลด้วย ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทที่ดูแลการสร้างระบบและกระบวนการใหม่ ๆ ต้องทำงานกับดาต้าเบสที่เป็นปัจจุบันและสดใหม่ ไม่ใช่ข้อมูลที่ทำซ้ำไว้ซึ่งมักจะไม่เป็นปัจจุบัน การใช้ DBaaS เป็นการปูทางให้หน่วยงานทั่วทั้งองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย องค์กรด้านเทเลคอม และเซอร์วิสโพรไวเดอร์นำโซลูชัน DBaaS ของนูทานิคซ์ไปใช้กับสภาพแวดล้อมดาต้าเบสขององค์กร เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานดาต้าเบสที่เพิ่มสูงขึ้นขององค์กรทั้งในแง่มุมของขนาด ความต้องการใช้งาน ความหลากหลายของดาต้าเบส การป้องกันและกู้คืนดาต้าเบส ซึ่งหลังจากได้มีการนำโซลูชัน DBaaS มาใช้งานทำให้งานที่เกี่ยวข้องกับดาต้าเบสมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น

  • การติดตั้งดาต้าเบสเมื่อมีการร้องขอจากยูสเซอร์ และหน่วยงานต่าง ๆ เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก
  • การร้องขอสำเนา และการโคลนดาต้าเบสเพื่อนำไปใช้ในการทดสอบ นำไปประมวลผล และออกรายงานต่าง ๆ ใช้เวลาลดลงเหลือ 30 นาที และลดการใช้พื้นที่สตอเรจที่จัดเก็บสำเนาข้อมูลดาต้าเบสเหล่านั้น
  • สามารถกู้คืนดาต้าเบสกลับไปยังช่วงเวลาที่ต้องการได้โดยใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีกับข้อมูลขนาดมากกว่า 60 TB
  • การดูแลจัดการดาต้าเบสหลายประเภทเช่น Oracle, PostgreSQL และอื่น ๆ สามารถทำผ่านเครื่องมือเดียวกัน ซึ่งช่วยลดความยุ่งยาก และลดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน

ดาต้าเบสแห่งอนาคต

ดาต้าเบสเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นวันนี้และในอนาคตปริมาณข้อมูลมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจะเป็นปัจจัยบังคับให้องค์กรต่าง ๆ ปรับปรุงระบบจัดการดาต้าเบสของตนให้ทันสมัยและใช้งานง่าย ไม่ว่าดาต้าเบสนั้นจะอยู่บนระบบภายในองค์กร บนไพรเวทคลาวด์ หรือบนไฮบริดคลาวด์ องค์กรจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานของตน