‘อินเดีย’ ประเทศที่มีคนยากจนจำนวนมาก พลิกโฉมจากอันดับที่ 81 สู่ 40 ของโลก เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่

เมื่อโลกของเราเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution: 4IR) ซึ่งเป็นการนำเอาโลกของการผลิตมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายในรูปแบบ IoT (Internet of Things) ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องตื่นตัว และเร่งผลักดันอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใหม่มากยิ่งขึ้น

ไม่เว้นแม้กระทั่งอินเดียประเทศที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคน แถมยากจนเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ผ่านมาเราพบข้อมูลว่าประชากรส่วนใหญ่ในอินเดียราว 70% มีรายได้ไม่ถึง 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ราว 66 บาทต่อวัน) ดังนั้นประชากรในอินเดียมีไม่ถึง 3% ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของอินเดียได้กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของอินเดียเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 และอินเตอร์เนตในยุค Web 3.0 ซึ่งจะทำให้การค้าเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงที่เรียกว่าเมตาเวิร์ส (Metaverse) ในไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยทางภาครัฐและเอกชนของอินเดียได้มีการจัดระดมสมองเตรียมการรองรับโอกาสและความท้าทายนี้ เพื่อเรียนรู้แนวทางการใช้ประโยชน์จากเมตาเวิร์ส เช่น ธุรกิจบริการการศึกษาบริการสุขภาพ ธุรกิจโฆษณาและบันเทิง เสื้อผ้า/แฟชั่น และ ธุรกิจค้าปลีก

ทำให้เห็นว่าอินเดียเป็นประเทศที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่บริบทการค้าแบบใหม่นี้และเร่งเตรียมความพร้อมให้กับนักธุรกิจ ในขณะเดียวกันในด้านการผลิตอินเดียกำลังเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์

โดยพัฒนาการนี้ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยในปี 2565 อินเดียได้รับการประเมินจาก World Intellectual Property Organization (WIPO) ให้อยู่ในอันดับที่ 40 ของดัชนีด้านนวัตกรรม (Global Innovation Index) ซึ่งอันดับที่ 40 นี้ไต่ขึ้นมาจากอันดับที่ 81 ในปี 2558 (ใช้เวลาเพียง 7 ปี ขึ้นมา 41 อันดับ)

ซึ่งการจัดอันดับนี้เกิดขึ้นจากการที่สามารถยกระดับการพัฒนาทักษะของแรงงานให้พร้อมรับการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และการสร้างสตาร์ทอัพสาขาต่างๆ รวมทั้งการระดมทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยผลดีจากการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมใหม่นี้ จะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการนำสินค้าไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี รวมไปถึงการทำงานของแรงงานที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยให้งานผลิตสำเร็จได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

หันมาดูมุมมองในส่วนของประเทศไทยกันบ้าง เราก็ได้มีการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่เช่นกัน โดย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ด BOI เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ Industry 4.0 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

ซึ่งที่ผ่านมาไทยเราได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นหนึ่งในการสนับสนุน และยกระดับอุตสาหกรรมไทย ที่จะนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันในที่สุด

ที่มา : economictimes.indiatimes

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อินเดีย #อุตสาหกรรมใหม่