office syndrome

ออฟฟิศซินโดรม รักษาได้ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

สำหรับเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอนพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในตอนนี้ ต่างคนต่างเร่งก้มหน้าก้มตาขยันทำงานทำเงินเต็มที่ จนบางครั้งละเลยการรักษาสุขภาพไป แต่รู้หรือไม่ว่าการตรากตรำหักโหมทำงานจนเกินลิมิตของร่างกาย ทำให้ส่งผลเสียระยะยาวได้ โดยเฉพาะโรคภัยในส่วนของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เรียกกันว่าอาการ ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

ออฟฟิศ ซินโดรม (Office syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น การนั่งทำงานหลายชั่วโมงในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัวคงค้าง จนเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อตึงเครียด และเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามร่างกายตามมา โดยส่วนใหญ่แล้วบริเวณที่เกิดการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อมากที่สุด ได้แก่ หลังคอ บ่า ไหล่ แขน และข้อมือ

โดยหากมีการปวดเมื่อยเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปล่อยอาการปวดทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รักษา อาการปวดและอักเสบก็จะยิ่งหนักขึ้นจนเป็นอาการปวดเรื้อรัง ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ที่ระดับคีย์บอร์ดสูงเกินไป

รวมถึงการก้มศีรษะเล่นมือถือนาน ๆ จนเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ ซึ่งถ้าเกิดการสะสมเป็นระยะเวลานานจะเกิดอาการปวดร้าวขึ้นศีรษะ ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นอาการไมเกรน แต่แท้จริงแล้วเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่สะสมมานาน

ส่วนการใช้มือกดคีย์บอร์ด คลิกเมาส์ เมื่อกระดกข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ เกิดภาวะพังผืดหนาตัวไปทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้วและข้อมือ หรือนิ้วล็อก ขยับนิ้วมือได้ลำบาก

 

รู้ได้อย่างไรว่านี่คืออาการของออฟฟิศซินโดรม

การเริ่มปวดคอ เมื่อยบ่า เจ็บไหล่ ร่างกายไม่เบาสบาย ก็ถือเป็นสัญญาญของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว เราควรหันมาสังเกตตัวเองว่าระหว่างที่กำลังทำงาน เราเคยชินกับอิริยาบถใดมากที่สุด แล้วมันถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เช่น เวลานั่งทำงานเรานั่งค่อมหลังเกินไปหรือไม่ เนื่องจากการนั่งค่อมหลัง

หรือการที่ระดับความสูงของโต๊ะ เกาอี้ คีย์บอร์ด และหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่พอดี เป็นสาเหตสำคัญที่ทำให้เราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้ง คอ บ่า ไหล่ แขน และข้อมือเลยทีเดียว

อีกทั้งท่าทางในการนั่งก็สำคัญ การนั่งหลังโก่งค่อม นอกจากจะเสียบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดการปวดหัว ปวดคอ และปวดหลัง การนั่งไขว้ห้างนาน ๆ ก็ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก กระดูกสันหลังก็จะบิดคดไปตามการไขว้ของขา นำไปสู่การปวดหลังได้

ส่วนอีกพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดออฟิศซินโดรมไม่แพ้การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็คือการก้มหน้าก้มตาใช้สมาร์ทโฟนนั่นเอง การที่เราใช้ 2 มือในการจับ พิมพ์ และไถหน้าจอสมาร์ทโฟน ทำให้กล้ามเนื้อแขนทำงานหนัก

อีกทั้งยังส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกเนื่องจากแขนทั้ง 2 ข้างยกงอขึ้น ส่วนการก้มลงไปดูหน้าจอมือถือ ก็ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลังตามไปด้วย

 

เปลี่ยนพฤติกรรมบำบัดออฟฟิศซินโดรม

แน่นอนว่าการปรับพฤติกรรมในการทำงานและใช้ชีวิต จะช่วยให้อาการออฟฟิศซินโดรมเบาเทาขึ้น แต่ก็ยังต้องบำบัดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดตัว ผ่อนคลาย รวมถึงมีการขยับเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเหมาะสม

office syndrome
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.wemall.com

1.ปรับเปลี่ยนวิธีการนั่งให้ถูกต้อง หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ระดับสายตาโดยไม่ต้องก้มหรือเงยหน้ามอง

2.ปรับระดับความสูงของโต๊ะและตำแหน่งคีย์บอร์ด ไม่ควรทำให้แขนทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ควรอยู่ในระดับประมาณเอวของผู้พิมพ์ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

3.เตือนตัวเองว่าอย่านั่งไขว้ห้าง รวมไปถึงการพักกล้ามเนื้อขาและหลังส่วนล่างด้วยการงดใส่รองเท้าส้นสูงบ้าง

4.หาเวลายืดเส้นยืดสาย ไม่นั่งอยู่กับที่หรือค้างอยู่ในท่าทางใดนานเกินไป ควรลุกเดิน หรือยืดแขน เอียงศีรษะให้กล้ามเนื้อคอได้ผ่อนคลายบ้าง

5.จัดเวลาออกกำลังกาย โดยเฉพาะโยคะสำหรับการบำบัดกล้ามเนื้อแบบออฟฟิศซินโดรม โดยเน้นการบริหารกล้ามเนื้อที่มีการปวดเมื่อยและใช้งานในท่าทางเดิม ๆ บ่อยครั้ง

 

แนวทางการรักษา ออฟฟิศซินโดรม

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้องแล้ว ในผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมมานาน ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกพิจารณาตามความหนักเบาของอาการ

โยคะ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับออฟฟิศซินโดรมในระยะแรกถึงระยะกลาง เนื่องจากยังสามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่อักเสบต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองได้อยู่ อีกทั้งการโยคะยังทำให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหวในท่าทางที่เหมาะสมอีกด้วย

สำหรับมือใหม่หัดโยคะ อาจจะเริ่มต้นจากท่าง่าย ๆ ซึ่งหาดูและทดลองทำตามได้จาก www.youtube.com หากต้องการฝึกจริงจังก็มีคลาสโยคะที่น่าสนใจ รอให้เลือกใช้บริการมากมาย

 

office syndrome
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://yogahousebangkok.com

 

ฝังเข็มและครอบแก้ว เป็น 2 วิธีที่มักจะใช้รักษาอาการออฟฟิศซินโดรมคู่กัน ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลาย ส่วนการครอบแก้วจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย

office syndrome
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://pandaphuket.com

 

การทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมไปถึงการปรับโครงสร้างร่างกายให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมในแต่ละบุคคล ซึ่งมีสถานบริการที่ได้รับการรองมาตรฐานจากสภากายภาพบำบัดหลายแห่ง ให้พิจารณาเลือกขอคำปรึกษาและใช้บริการ

office syndrome
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.happinessnursinghome.com

 

ทั้งนี้แล้ว การบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) สามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ รวมทั้งต้องไม่ลืมแบ่งเวลามายืดเส้นยืดสายออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อยึดติดอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป ซึ่งการดูแลตัวเองก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย ย่อมเป็นวิธีการดีกว่าจะมัวหาทางรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว

 

office syndrome