หรือนี่จะเป็นวิกฤตผู้ส่งออกอาหารทะเล? เงินเฟ้อสหรัฐฯกดยอดขายดิ่ง 7 เดือนติด! 3 ผู้ประกอบการไทย เตรียมรับศึกหนัก

สภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักในสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารทะเลที่พบข้อมูลว่าในแต่ละเดือนราคาจะเพิ่มขึ้นราว 0.5 – 1% และอย่างที่เรารู้กันดีว่าไทยเราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายสำคัญประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งมีการส่งออกอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ยอดขายอาหารทะเลที่ลดลงจึงกระทบต่อการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากใครได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เราจะเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อในระดับสูงนี้มาตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที (ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)

โดยผลกระทบจากเงินเฟ้อนี้มีมากมาย เพราะเงินเฟ้อได้ทำให้มูลค่าเงินของประชาชนลดน้อยลง พูดง่าย ๆ คือ อำนาจเงินที่มีในมือของเราน้อยลง จนท้ายที่สุดประชาชนจะซื้อสินค้าได้น้อยลงนั่นเอง

ทั้งนี้หากเรามองผลกระทบในส่วนของราคาสินค้าและอุปโภคบริโภค นับตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.2565 ที่ผ่านมา จะพบว่าราคาสินค้าเหล่านี้ในสหรัฐพุ่งขึ้นราว 14.3% โดยเฉพาะในหมวดของราคาอาหารทะเลที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก ด้วยราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของอาหารทะเลสดเพิ่มขึ้น 9.3% และอาหารทะเลแช่เยือกแข็งเพิ่มขึ้น 11.6% และอาหารทะเลสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าปรับขึ้นได้ถึง 9.3% (ซึ่งในภาวะปกติถือเป็นอาหารที่มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจสูงสามารถขายได้ดีในทุกสภาวะเศรษฐกิจ)

ซึ่งราคาอาหารทะเลเพิ่มสูงต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบให้การบริโภคอาหารทะเลลดลง ภาพเหล่านี้สะท้อนออกมาทางยอดขายอาหารทะเลในเดือนสิงหาคม 2565 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยอดขายอาหารทะเลสดลดลง 6.1% ส่วนยอดขายอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ลดลง 3.6%

และอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายสำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลปีละ 5,621 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นราว 2.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ซึ่งเราส่งออกไปสหรัฐราว 1,349.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเด็นนี้จะทำให้เราได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในส่วนของยอดการบริโภคที่ลดน้อยลง เมื่อเจาะเข้าไปรายกลุ่ม เราจะเห็นว่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยเป็นกุ้งมากสุด สัดส่วน 53% และปลาเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 28% ตามมาด้วยปลาหมึกสัดส่วน 17% ดังนั้นทำให้ผู้ส่งออกกุ้งได้รับผลกระทบหนักที่สุดในครั้งนี้

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะกระทบต่อผลบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ CFRESH มากสุดเพราะส่งออกไปสหรัฐฯสูงถึง 20-25% และกระทบรองลงมาคือ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN (บทวิเคราะห์ FSSIA) 5% และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กระทบจำกัดน้อยกว่า 2-3%

เขียนและเรียบเรียบ : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : DIPT , FSSIA , กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อาหารทะเล #ส่งออกอาหารทะเล