หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคใกล้ตัวที่ใคร ๆ ก็อาจเป็นได้

ปัจจุบันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยสามารถสังเกตได้จากอาการปวดเหล่านี้ คือ ปวดที่ต้นคอร้าวลงมาที่แขน ปวดที่หลังร้าวลงมาที่ขา และปวดที่ต้นคอหรือหลังเรื้อรัง โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นระยะเวลานาน ๆ มากกว่า 14 วันขึ้นไปและไม่หายปวด ซึ่งสาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกก็มีหลายสาเหตุ ทั้งอายุที่เพิ่มขึ้น กิจกรรม ในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว เราก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีทั้งวิธีที่ต้องผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

สาเหตุการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. อายุหมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่เหมือนกับโช้คอัพของกระดูกสันหลัง และเมื่อเวลาผ่านไปหมอนรองกระดูกของคนเราก็จะมีการสึกหรอและเสื่อม เกราะภายนอกของหมอนรองกระดูกแตกและส่งผลให้เนื้อของหมอนรองกระดูกภายในนั้นปลิ้นออกมา ทำให้เนื้อภายในที่มีลักษณะเหมือนเจลลีเลื่อนออกไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอและหลังต่าง ๆ ตามมา
  2. กิจกรรมประจำวันไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา ยกของหนัก นั่งผิดท่า ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ
  3. อุบัติเหตุในกรณีที่ได้รับแรงกดทับหรือการกระแทกที่รุนแรง อาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกเกิดแตกและปลิ้นออกมากดทับที่เส้นประสาทได้เช่นกัน

นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกสันหลัง รพ.พญาไท 1

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. รักษาโดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัด

นวัตกรรมการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency / RF) การใช้คลื่นวิทยุเข้าไปสลายส่วนของหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทให้หายไป โดยใช้ตัวนำที่มีลักษณะคล้ายเข็มแทงลงไปยังบริเวณจุดที่เป็นสาเหตุของอาการปวด วิธีนี้คนไข้จะใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืนเท่านั้น นวัตกรรมการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยการฉีดซีเมนต์ (Vertebroplasty) ในกรณีที่คนไข้มาด้วยอาการปวดอันเกิดจากกระดูกสันหลังทรุดตัว จะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เข้าไปยังข้อกระดูกสันหลังที่มีการทรุดตัว ซีเมนต์จะทำหน้าที่ในการซ่อมแซมข้อกระดูกสันหลังข้อดังกล่าวและส่งผลให้อาการปวดนั้นหายไป นวัตกรรมการระงับอาการปวดจากกระดูกทับเส้น ด้วยการฉีดยาบล็อกเส้นประสาท (Interventional Selective Nerve Root Block) โดยทำการฉีดยาที่ช่วยลดอาการอักเสบเข้าไปยังจุดที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ส่งผลให้อาการปวดนั้นหายไป โดยการรักษาด้วยวิธีนี้คนไข้ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเลย

  1. รักษาโดยการผ่าตัดแผลเล็ก

นวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบผ่าตัดแผลเล็ก ด้วยกล้องขยายกำลังสูง (Microscopic Discectomy) แพทย์จะทำการผ่าตัดคนไข้ร่วมกับการใช้กล้องขยาย Microscopic ที่มีกำลังการขยายสูง ทำให้สามารถมองเห็นระบบประสาทภายในร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจน จึงรักษาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิผลสูงสุด แผลมีขนาดเล็กเพียงแค่ 2.5 ซม. เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืน

นวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แบบผ่านกล้อง (Endroscopic Discectomy)

แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเปิดแผลขนาดประมาณ 8 มิลลิเมตร ที่ข้างลำตัวของคนไข้ใกล้ ๆ กับบริเวณที่เป็นสาเหตุของอาการปวด แล้วนำกล้อง Endroscopic ทรงกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตรสอดผ่านปากแผลเข้าไป และทำการผ่าตัดโดยมองผ่านจอภาพที่แสดงผลมาจากกล้อง ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืน

นวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยเลเซอร์ผ่านกล้องใยแก้วนำแสงขนาดเล็ก (SELD)

แพทย์จะทำการนำกล้องใยแก้วนำแสงที่มีลักษณะคล้ายเข็ม ขนาดเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร สอดผ่านเข้าไปที่บริเวณก้นกบของคนไข้เพื่อเข้าไปยังจุดที่มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ทำให้มองเห็นภายในร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจนผ่านจอภาพที่แสดงผลจากกล้อง และทำการผ่าตัดรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ ซึ่งเลเซอร์นี้จะใช้สำหรับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ

ข้อดีของการผ่าตัดแบบ SELD คือ แพทย์จะสามารถขยับกล้องขึ้นลงเพื่อทำการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกที่เสื่อมในจุดต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหม่ ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร คนไข้จึงใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืนเท่านั้น

 

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์ดูแลกระดูกสันหลังแบบผสมผสาน โรงพยาบาลพญาไท1 ชั้น 5 อาคาร 3 หรือโทร. 02-201-4600 ต่อ 2688-2690

 

ผู้เขียน : นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและกระดูกสันหลัง รพ.พญาไท 1