ส่องอนาคตค้าปลีกอาเซียน

แม้ในปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกหรือรีเทลในภูมิเอเชียอาจจะยังไม่สดใสมากนัก เนื่องจากได้รับผลจากมรสุมเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจะต้องฝ่าฟันความท้าทายหลายประการ ทำให้บางร้านค้าขาดทุนและเผชิญหน้ากับปัญหาค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในปี 2016 สื่อต่างประเทศอย่าง Retail Asia Online ออกมาประเมินว่า สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย จะยังคงพบกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่ามกลางสถานการณ์ผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย

จากความท้าทายดังกล่าว Retail Asia Online กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยอดขายธุรกิจค้าปลีกสิงคโปร์ลดลง ยกตัวอย่างเคส ร้านค้าสัญชาติญี่ปุ่นในสิงคโปร์ที่มียอดขาย Q3 ลดลง 14% และ Metro Holdings ผู้ค้าปลีกสิงคโปร์ที่ทำรายได้เพียง 1.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาส 2 (YoY) หลังจากเคยมีรายได้ถึง 2.1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์มาก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้ประธานบริหาร Metro Centrepoint store สิงคโปร์ อย่าง Winston Choo ประเมินว่า จากนี้ธุรกิจค้าปลีกมียังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์ค้าปลีกมาเลเซีย  Datuk Magic Lee ผู้บริหารงานห้างสรรพสินค้า Parkson สรุปให้ทาง Retail Asia Online ว่า ปีนี้ยอดขายอาจจะตกได้ถึง 15% หลังจากปีที่แล้วค่าเงินริงกิตร่วงหนักที่สุดในรอบ 17 ปี

ขณะที่ตลาดค้าปลีกในฟิลิปปินส์กลับถูกมองว่า เป็นตลาดที่รุ่งโรจน์ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากปีที่แล้ว (2015) ฟิลิปปินส์มี GDP มีอัตราเติบโตถึง 6.5%

อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ค้าปลีกฟิลิปปินส์ (Philippine Retailers Association :PRA) ฟันธงว่า ธุรกิจรีเทลจะเติบโตจากกำลังซื้อของคนรุ่นใหม่  โดยเฉพาะประชากรหนุ่มสาววัยแรงงาน เห็นได้จากยอดขายร้านค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น

การันตีจากคำกล่าวของ Roberto S Claudio รองประธาน ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาคมผู้ค้าปลีกฟิลิปปินส์  ที่ระบุว่า ตลาดฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดค้าปลีกที่เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค จากแรงขับเคลื่อนของผู้บริโภควัยหนุ่มสาววัยแรงงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับ Nielsen ที่รายงานว่า จำนวนร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในฟิลิปปินส์ปี 2015 มีการเติบโตถึง 53% และคาดว่าร้านสะดวกซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ภายในปี 2018

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทย รัฐบาลได้ส่งท้ายปี 7 วันด้วยนโยบาย “ช็อปช่วยชาติ” กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท  และมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่เศรษฐกิจโดยรวมถึง 125,000 ล้านบาท

 

ค้าปลีกไทย ยังไหว ?
แม้ว่าประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย (TRA) อย่าง จริยา จิราธิวัฒน์ จะกังวลในสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมค้าปลีก

แต่เธอ ก็เชื่อมั่นว่า การจับจ่ายใช้สอยที่มาตรการช็อปช่วยชาติ ช่วยให้ตลาดค้าปลีกกลับมาเติบโตอีกครั้ง และผลักดันให้อุตสาหกรรมค้าปลีกปีนี้เพิ่มขึ้น 3.2 % และจะเติบโตเป็น 6% ภายในปี 2017 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและภาคเอกชน

ขณะที่มุมมองของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2016 การค้าปลีกอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตจะยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของลูกค้าระดับกลางถึงล่างที่มีการใช้จ่ายระมัดระวัง และมียอดซื้อในแต่ละครั้งลดลง

นอกจากนี้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังหันไปนิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกใน Segment อื่น ๆ ทดแทนอย่างเช่นช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ตลาดนัดชุมชน, ตลาดธงฟ้า เป็นต้น

แม้ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในปีนี้ก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้แนะวิธีฝ่าลมต้านเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค ดังนี้

  1. ผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Convenience Store) ต้องปรับตัวกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในชุมชนเมือง ซึ่งผู้บริโภคนิยมความรวดเร็วและสะดวกสบาย
  2. ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกดั้งเดิม ไม่ควรเน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าถึงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า หัวใจสำคัญของการค้าปลีก คือ การเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางและ
หาพื้นที่จอดรถ แต่ต้องรุกเข้าไปบริการผู้บริโภคถึงที่ พร้อมกับจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ให้ถี่ขึ้น อีกทั้ง เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ มาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น สินค้าของผู้ผลิต SMEs เป็นต้น

 

ที่มา : retailasiaonline