‘สิงคโปร์’ ต้นแบบ Green Hotel เป้าหมายคือ Net Zero emissions ในปี 2050

ถ้าคิดถึงประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราคงจะคิดถึงประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่มาก และมีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างจำกัด สิงคโปร์จึงต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
Business+ จึงอยากชวนมาดูนโยบายที่สิงคโปร์ใช้ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ด้วยการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จะต้องปรับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับ Singapore Green Plan 2030 และหนึ่งในธุรกิจที่จะช่วยทำให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายนั้นก็คือธุรกิจโรงแรมนั่นเอง
สิงคโปร์ตั้งเป้าหมาย การปล่อยมลพิษ เป็นศูนย์ (Net Zero emissions ) ภายในปี 2050 และสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพอากาศในระยะสั้นด้วย โดยจะลดการปล่อยมลพิษให้เท่ากับ 60 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2030
แผนนี้มีชื่อว่า Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นวาระระดับชาติของสิงคโปร์ เพื่อช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยมี 5 เสาหลักคือ 1. เมืองท่ามกลางธรรมชาติ 2. การรีเซ็ตพลังงาน 3. การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน 4. เศรษฐกิจสีเขียว 5. อนาคตที่ยืดหยุ่น
ดังนั้น เพื่อที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ สิงคโปร์จึงประกาศถึงแผนการที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2024 ซึ่งการปรับขึ้นภาษีอาจสร้างแรงจูงใจให้โรงงานขนาดใหญ่เพิ่มประสิทธิภาพและหาวิธีลดการปล่อยมลพิษ อุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงเร่งดำเนินการเพื่อที่จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นไปตามที่รัฐกำหนด ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในเสาหลักเศรษฐกิจสีเขียว
Green plan สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ สิงคโปร์ต้องการจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่ชัดเจน สมาคมโรงแรมแห่งสิงคโปร์ (Singapore Hotel Association; SHA), คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board; STB) ประกาศเปิดตัวโร้ดแมปสำหรับโรงแรมที่ยั่งยืน (Hotel Sustainability Roadmap) ในงาน Hotel Sustainability Conference and Marketplace ดังนี้
1. บูรณาการความยั่งยืนเป็นค่านิยมหลักทั้งระบบนิเวศของโรงแรม
2. จัดตั้งห้องวิจัยที่มีชีวิต (Living Lab) และใช้ความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจ
3. ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค
จากข้อมูลของ statista ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 นักเดินทาง 78 เปอร์เซ็นต์ตั้งใจที่จะพักในที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ฉะนั้นการที่โรงแรมในสิงคโปร์ดำเนินการตาม Green plan ในการเป็นที่พักที่ยั่งยืน จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจกลุ่มนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมนักเดินทางเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ สิงคโปร์จึงคาดหวังจะเป็นจุดหมายปลายทางที่มีความรับผิดชอบ ด้วยการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการเป็นเมืองท่ามกลางธรรมชาติ และเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ
จุดโฟกัส 4 ด้านในการดำเนินการ Green Hotel
การอนุรักษ์น้ำ เช่น การใช้มาตรวัดน้ำอัจฉริยะ การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่สำหรับสถานที่ซักรีด การใช้ห้องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในห้องพัก
การจัดการของเสีย การรีไซเคิล และเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โซลูชันการจัดการของเสียจากอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องย่อยอาหาร
การจัดหาและจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน เช่น ฟาร์มในประเทศ ผลผลิตในท้องถิ่น การประเมินผู้ขายตามการรับรอง/แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
การอนุรักษ์พลังงาน เช่น ระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ เทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องวัดพลังงานอัจฉริยะ โรงผลิตไฟฟ้าแบบ trigeneration
ความท้าทายของการปรับตัวสู่ Green Hotel
แม้ว่าจะมีโรงแรมที่เริ่มปรับตัวดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนแล้ว แต่ก็พบความท้าทายในการดำเนินการเพื่อที่จะเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) อย่างสมบูรณ์ ทั้งการทดลองโซลูชันใหม่ ๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากวัสดุที่ยั่งยืน รวมทั้งการโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงแรมให้ลงทุนในโซลูชันที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน
โรงแรมที่เริ่มดำเนินการเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนแล้ว เช่น
• PARKROYAL on Pickering
• Grand Hyatt
• Siloso Beach Resort, Sentosa
• Marina Bay Sands
• The Fullerton Hotels and Resorts
สำหรับ Marina Bay Sands การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านอุปกรณ์หรือโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเสมอไป การลงทุนในสเกลที่เล็กลง เช่น การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ก็ถือเป็นการมุ่งสู่ความยั่งยืนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับโรงแรมเมื่อนำโซลูชันใหม่มาใช้
ขณะที่ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศของ The Fullerton Hotels and Resorts กล่าวว่า มีต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักหรือการจัดหาอาหารที่ยั่งยืน เนื่องจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมักจะมีราคาสูงกว่าวัสดุที่ใช้แล้วทิ้งเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้และวิธีการแปรรูป
ส่วนทาง Pan Pacific Orchard ก็จะมีการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟให้กับสวนในร่ม และ Grand Hyatt Singapore จะตั้งแพลนต์รีไซเคิลน้ำสำหรับซักรีดในโรงแรม ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย ก็มีการตรวจประเมินโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ในแต่ละปี ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยมีเกณฑ์โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. นโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. การพัฒนาบุคลากร
3. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
5. การจัดการสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงาน
6. การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน
ซึ่งเมื่อปี 2021 มี Green Hotel 68 โรงแรม ที่ผ่านการพิจารณา มี 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม (Gold) ระดับดีมาก (Silver) และระดับดี (Bronze) เช่น โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์พอยต์ สุขุมวิท 55 โรงแรมอคิรา แมเนอร์ เชียงใหม่ โรงแรมมีเลียเกาะสมุย และ Green Hotel 14 โรงแรม ดำเนินการโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ไทยแลนด์ เช่น โอ๊ควู๊ด โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ ศรีราชา เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ทั้งของสิงคโปร์และไทยต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อให้สถานประกอบการโรงแรมสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์น้ำและพลังงาน และที่สำคัญคือเตรียมความพร้อมสู่การประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล
แม้จะมีความท้าทายหลาย ๆ ด้านในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้โรงแรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องต้นทุนด้านอุปกรณ์หรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะข้อได้เปรียบสำหรับการเป็นที่พักที่ยั่งยืน ก็คือสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่แนวโน้มต้องการพักในที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการอีกด้วย
ที่มา Singapore Green Plan, straitstimes, โครงการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สิงคโปร์ #GreenHotel #โรงแรมที่ยั่งยืน #SGGreenPlan