สะพายสายแนว

สะพายสายแนว ยกระดับย่ามไทยสู่แบรนด์ของคนมีรสนิยม

สะพายสายแนว (SapaiSainaew) เป็นอีกหนึ่งโมเดลความสำเร็จของการอัพเกรด ผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ติดภาพลักษณ์ของความเชย สู่รสนิยมของคนมีสไตล์ พร้อม ๆ กับรายได้แบบก้าวกระโดด แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เรียกว่า อรสา โตสว่าง  ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ต้องเหนื่อยหนักตลอด16 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สะพายสายแนว เป็นหนึ่งในโครงการของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด คือวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือชุมชนที่มีความพร้อมทางด้านกิจกรรม ที่สามารถพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน

สะพายสายแนว

นับตั้งวันแรกที่โครงการ SapaiSainaew ถูกปลุกปั้นขึ้นมา ก็สามารถทำรายได้รวมกันนับ 10 ล้านใน 16 เดือน และสร้างเครือข่ายสมาชิกชาวบ้านกว่า 800 คนใน 25 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่ก้าวกระโดดทั้งแง่ของรายได้และเครือข่าย

 

ทั้งนี้ อรสา โตสว่าง ที่ปรึกษาการตลาด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จนี้ว่า SapaiSainaew เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาพัฒนาเพื่อยกระดับย่ามไทยให้ตรงใจผู้บริโภค และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชน

สะพายสายแนว
อรสา โตสว่าง ที่ปรึกษาการตลาด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด

โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการต่อยอดสิ่งที่ชุมชนมีความถนัดอยู่แล้วคือ ผ้าทอ โดยช่วยพัฒนาด้านเทคนิคการทอ สี และลายผ้า โดยมีดีไซน์เนอร์จิตอาสาหลายคนเข้ามาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยและน่าสนใจ ทำให้สามารถอัปราคาขายจากหลักร้อยขึ้นมาเป็นหลักพันหลักหมื่นได้

สะพายสายแนว

ในขณะเดียวกัน ประชารัฐรักสามัคคี จะเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนด้านตลาดและสนับสนุนด้านการขาย ทั้งในงานอีเวนต์ของเอกชน เช่น งานบ้านและสวน และอีเวนต์ของรัฐ เช่น งาน OTOP ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้นหลายเท่าตัวตั้งแต่ออกบูธครั้งแรก

“เราหาตลาดใหม่ แทนที่จะไปขายในที่ที่มันแมสมาก เราเน้นไปตลาดที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น งานบ้านและสวน สิ่งที่ชาวบ้านเรียนรู้จากเราคือ ของสวยขายได้แพง ดิสเพลย์ต้องดี ป้ายราคาต้องชัดเจน ที่มาที่ไปเรื่องราวต้องเล่าได้ชัดเจน เขาอาจทำเองไม่ได้ทุกอย่าง แต่เขาจะเริ่มเข้าใจว่าจะเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร ปัจุบันเราเริ่ม build brand ของตัวชาวบ้านเอง รวมถึงแบรนด์ SapaiSainaew ซึ่งตอนนี้เป็นที่รู้จักดีมาก ในเพจ @SapaiSainaew ที่เราสร้างขึ้น ถึงจะไม่ได้มียอดไลก์เยอะ แต่คนซื้อมหาศาล”

สะพายสายแนว

และอีกกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นยอดขายคือ การสร้าง demand ให้ลูกค้า เช่น ปิดบูธ 21:00 น. SapaiSainaew จะยุติการขายทันทีแม้ว่าลูกค้าจะมาช้าไปแค่ 1 นาทีก็ตาม วิธีแบบนี้จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยล่าสุด SapaiSainaew ได้ไปออกบูธที่งาน OTOP สามารถทำรายได้กว่า 1.5 ล้านบาทใน 9 วัน ด้วยการออกแบบบูธให้สวยงามและมีมุมถ่ายภาพหลากหลาย ทำให้บูธของ SapaiSainaew กลายเป็น community ใหม่ ที่ขายรสนิยมมากกว่าแค่ขายย่าม

สะพายสายแนว

ปัจุบันชุมชนที่ SapaiSainaew สนับสนุนหลายกลุ่มสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ต่อยอดพัฒนาสินค้าตัวเองได้ ทำรายได้ต่อคนได้มากขึ้น เช่น บ้านสันกอง และบ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากชุมชนจะเข้าใจกลไกทางธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

สะพายสายแนว

อาทิเช่น เรียนรู้เมื่อต้องไปวางขายสินค้าในงานอีเวนต์บนห้างสรรพสินค้า ต้องนำสินค้าคุณภาพดีราคาแพงไปวางขายถึงจะขายได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าต้องวางสินค้าในพื้นที่ชุมชน ต้องนำสินค้าราคาถูกมาวางขาย เป็นต้น และที่สำคัญคือ ลูกหลานที่ออกไปหางานทำนอกภูมิลำเนา ทยอยกลับบ้านมาต่อยอดงานของพ่อแม่เนื่องจากมีรายได้เพียงพอ

สะพายสายแนว

“ตอนนี้เราพัฒนาลูกเขาด้วย ก่อนหน้านี้รุ่นลูกมักจะเข้าไปทำงานในเมืองเพราะเขาคิดว่าย่ามที่แม่ทำไม่มีอนาคตแน่ ๆ แต่ตอนนี้รายได้แม่ดีมาก ลูกกลับมาเพื่อเป็นผู้จัดการธุรกิจของแม่ เราสอนลูกเขา On top ตรงนั้น สอนเปิดเพจ สอนถ่ายรูปให้สวย องค์ประกอบบนออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้รุ่นแม่ไม่เข้าใจ ลูกก็จะทำหน้าที่ตอบอินบ็อกซ์ รับออเดอร์ เก็บเงิน ส่งของให้ลูกค้า ความยั่งยืนอยู่ตรงนี้ ต่อให้เขาไม่มีเราเขาจะต้องเดินได้เอง” อรสากล่าวปิดท้าย

 

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

สะพายสายแนว