ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล แนะสื่อสารในครอบครัว ด้วยหลักจิตตปัญญา

รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล แนะสื่อสารในครอบครัว ด้วยหลักจิตตปัญญา

จิตตปัญญา คือ กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นการศึกษาที่เน้นการพัฒนาด้านในอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ เกิดความรักความเมตตา อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างสมดุล

ในการเสวนา รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ กล่าวว่า “จิตตปัญญาวางอยู่บนพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นว่า มนุษย์เราทุกคนเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืช มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะเติบโตงอกงาม

แต่ระบบการศึกษาของเราที่ผ่านมา พบว่ายังขาดความสมดุลพอดี เราเร่งเด็กทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม เร่งปุ๋ยเร่งน้ำเสียจนทำให้เมล็ดพันธุ์โตเร็วเกินไป หรือไม่ก็ฝ่อไปเลย ซึ่งจิตตปัญญาจะช่วยปรับกระบวนการเรียนการสอน โดยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เมล็ดพันธุ์ของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้งอกงาม

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นองค์กรการศึกษาที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ และการปฏิบัติด้านจิตตปัญญา และการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ในมิติ และบริบทที่หลากหลาย ภายใต้ปณิธานของศูนย์ฯ ในการยกระดับสุขภาวะของคนในสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

ซึ่งที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ ร่วมกันมากมาย โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านจิตตปัญญาศึกษา และนิเทศศาสตร์เข้าด้วยกันให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ทำให้สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) ร่วมกัน และจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “จิตตปัญญากับการสื่อสารในครอบครัว ทำอย่างไรให้บ้านยังคงเบิกบานสำหรับเรา” ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมเสวนาโดย อ.ณฐิณี เจียรกุล นักวิชาการด้านการปฐมวัย อ.วิทวัส สังสะกิจ ครูผู้ฝึกสอนนักแสดง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา มณีวัฒนา คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

“จิตตปัญญาไม่ใช่วิชาของการหัดควบคุมอารมณ์ หากเป็นผลพลอยได้ จริงๆ แล้วเราต้องการให้กลับมามองที่รู้จักคุณค่าและเคารพความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง โดยการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ไม่ตัดสินคนโดยผิวเผิน และพร้อมที่จะให้อภัยคนอื่น เพื่อยกระดับจิตใจสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น

ที่สำคัญ คือ เราไม่ได้มุ่งอยู่เพียงแค่การฝึกคนให้เป็นคนดี เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว แต่หากเราสามารถฝึกใจตัวเองโดยไม่ปฏิเสธธรรมชาติของตัวเองในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จได้เหมือนกัน

“แนวคิดการสื่อสารในครอบครัว โดยทฤษฎีทุกคนรู้หมดว่า พ่อแม่ต้องฟังลูก สามีต้องฟังภรรยา ต้องมีเวลาให้กัน เราต้องไม่ใช้อารมณ์ แต่ถามว่าจิตตปัญญาทำให้เราทำอะไร

จิตตปัญญาทำให้เราตระหนักรู้ รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง จิตตปัญญาทำให้เรายอมรับกายใจของเราอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกังวล ความโกรธ ความอิจฉา น้อยใจ เราห้ามไม่ได้ หากไม่ปฏิเสธแต่พยายามเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ เราก็จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ กล่าวทิ้งท้าย