ราคาทองคำถึงขาลงแล้วหรือยัง? 3 ปัจจัยสนับสนุนแม้สหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย

ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมาราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากราคาทองคำแท่งขายออกเดือน ม.ค. ที่ระดับ 28,607.69 บาท สู่ 30,565 บาท ในเดือน มี.ค. 2565

ซึ่งราคาทองคำมีแรงซื้อเข้ามาในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะเหตุการณ์ที่ไม่สงบนี้จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว สินทรัพย์ที่จะเป็นที่ต้องการมากที่สุดคือทองคำ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ราคาผันผวนน้อย และให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น และทองคำยิ่งเป็นที่ต้องการมากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประสบกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงด้วยระดับ 7.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี (นับตั้งแต่ปี 2525) ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการใช้จ่ายเงินที่ร้อนแรงจนเกิดความไม่สมดุล เป็นสาเหตุที่ทำให้การประชุมเฟดเดือน มี.ค. ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ ครั้งละ 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสิ้นปีอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในช่วงปลายปี 2565

ซึ่งโดยปกติแล้วหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทองคำจะถูกขายออกมา เพราะนักลงทุนมองว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และการขึ้นดอกเบี้ยแสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ดังนั้น ในช่วงที่ขึ้นดอกเบี้ยราคาทองคำจึงปรับตัวลดลง

แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าราคาทองคำซึมตัวลงมาเล็กน้อยเท่านั้นจากวันประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย

จริงอยู่ที่ราคาทองคำจะสวนทางกับดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ถึงแม้สหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ก็ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ติดลบเหมือนเดิม โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคำนวณได้จาก อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน – อัตราเงินเฟ้อ ตามสูตร “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง = อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน – อัตราเงินเฟ้อ”

เมื่อเราลองนำตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่เฟดปรับขึ้นครั้งล่าสุดเข้าไปแทนในสมการจะได้ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง = 0.25 – 7.5% ดังนั้น ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่ากับ -7.25% จะเห็นว่าถึงแม้ปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่หากอัตราเงินเฟ้อคงที่ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังมีค่าติดลบอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คาดการณ์ว่าราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่สนับสนุนราคาทองคำในทิศทางขาขึ้น

โดย 3 เหตุผลที่ ‘Business+’ คาดว่าจะส่งผลให้ราคาทองคำยังอยู่ในระดับสูงมีดังนี้

– อัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เมื่อนำมาหักลบกับเงินเฟ้อแล้วทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ ซึ่งทำให้ราคาทองคำยังทรงตัวในระดับสูง

– สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว และภาวะการชะลอตัวนี้ทำให้เกิดความกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงเลือกถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ

– ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งราคาทองคำจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อ

ที่มา : สมาคมค้าทองคำ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ราคาทองคำ #สินทรัพย์ปลอดภัย #ลงทุนทองคำ