ผลกระทบจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ วิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซึ่ง ‘ไทย’ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!!

สถานการณ์ระหว่าง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ตึงเครียดอย่างหนัก หลังจากผู้นำของรัสเซีย อย่าง ‘ปูติน’ ส่งทหารบุกยูเครนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ด้วยเหตุผลที่ว่า “รัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

มาตรการคว่ำบาตรที่เริ่มไปแล้วคือการอายัดทรัพย์ธนาคารขนาดใหญ่ของรัสเซีย (ยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่มีอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป) และห้ามธนาคารรัสเซียให้บริการด้านการเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราของยุโรป ซึ่งจุดนี้จะทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ (นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลจนต้องถอนตัว) และยังกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของรัสเซีย

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่น่ากลัวคือ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปส่งสัญญานว่าจะจำกัดการส่งออกสินค้าไปรัสเซียด้วย แน่นอนว่าการจำกัดการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียจะกระทบทั้งต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศที่คว่ำบาตรและคู่ค้า

ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีประเทศใดสร้างความเสียหายต่อภาคพลังงานของรัสเซีย แต่ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือราคาพลังงานที่จะพุ่งสูงขึ้นไปต่อเนื่อง โดยมีการประเมินว่าราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นไปสู่ระดับ 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้เลยทีเดียว!!

สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันทะยานเป็นเพราะว่ารัสเซีย เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (ปริมาณการผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐ และซาอุดิอาระเบีย)

ซึ่งการขนส่งพลังงานจากรัสเซียไปยุโรปต้องส่งผ่านประเทศคู่กรณีอย่างยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่กั้นระหว่างยุโรปและรัสเซีย ดังนั้นยุโรปที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียได้รับผลกระทบโดยตรง

ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนยังก็เป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก (31% จากปริมาณส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย)

ดังนั้น หากรัสเซียไม่สามารถขุดเจาะ หรือส่งออกน้ำมันก็จะทำให้เกิดปัญหากับอุปทานตลาดน้ำมันโลกแน่นอน เพราะก่อนเกิดสงครามเราก็อยู่ในสถานการณ์ที่การผลิตน้ำมันของโลกมีจำกัด จึงยิ่งเป็นตัวเร่งให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ รัสเซีย ยังเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และสหภาพยุโรปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากรัสเซียในอัตราที่สูงมาก (ปริมาณการนำเข้าคิดเป็น 35% ของปริมาณการใช้ก๊าซทั้งยุโรป) จึงเสี่ยงประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน

เมื่อชาติมหาอำนาจอย่างสหภาพยุโรป จีน ต้องประสบปัญหา รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกด้วยเช่นกัน ในฐานะประเทศคู่ค้าต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป จีน รัสเซีย ซบเซา (กระทบการส่งออก ท่องเที่ยว รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน)

ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย ถึงแม้ว่าผลกระทบจากพลังงานจะไม่รับผลกระทบโดยตรงในแง่ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย เพราะไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 3% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด แต่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่เป็นต้นทุนสำหรับภาคการผลิต

โดยข้อมูลการส่งออก-นำเข้า ของไทย-รัสเซีย และไทย-ยูเครน ในปี 2564 พบว่า ไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียด้วยมูลค่า 1,027 ล้านดอลลาร์ (ราว 33,891 ล้านบาท) โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญ คือ
– รถยนต์ และอุปกรณ์รถยนต์
– ผลิตภัณฑ์ยาง
– เครื่องจักร
– เม็ดพลาสติก
– ผลไม้แปรรูป

ส่วนรัสเซียส่งออกสินค้ามาไทยด้วยเช่นกัน คือ น้ำมันดิบ ปุ๋ย เหล็ก และสินค้าแร่

มาดูฝั่ง ไทย-ยูเครน กันบ้างถึงแม้ไทยจะยังไม่มีความสัมพันธุ์ทางเศรษฐกิจกับยูเครนมากนัก แต่ยูเครนเป็นแหล่งนำเข้าข้าวสาลีซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงจนไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนได้ ทำให้หลาย ๆ ประเทศอาจจะต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น ซึ่งอาจมีราคาสูงมากกว่า

แน่นอนว่า อาหารสัตว์ที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบอไปยังสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่มีอาหารสัตว์อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับราคาเนื้อหมูในบ้านเราเมื่อท้ายปี 2564 ถึงต้นปี 2565)

ทั้งนี้หากสงครามยืดเยื้อ ก็จะทำให้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยืดเยื้อตาม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.ฟินันเซียไซรัส ,InfoQuest,js100

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สงคราม #รัสเซียยูเครน