รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนเอนกประสงค์เพื่อผู้พิการ ความร่วมมือ 3 สถาบัน

อีกหนึ่งผลงาน “รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ” (PMK: Multipurpose Electric Powered Wheelchair) ผลงานความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน นำโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ พล.ต.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี, พอ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมด้วยทีมนักศึกษาสาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ นายพรรษวุฒ อ้วนมี นายนราศักดิ์ อาจลึก และนายปนันชัย วันดี

พล.ต.ผศ.นพ.อารมณ์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า ในปัจจุบันผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) หรือ อาการอ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง อันเกิดจากความผิดปกติของสมอง เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) ไม่สามารถที่จะลุกยืนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น สามารถลุกยืนหรือหยิบสิ่งของ ในชีวิตประจำวันหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมบางประเภทตลอดจนตกแต่งกิ่งไม้ที่สูง ๆ ด้วยตนเองได้

ทางทีมงานวิจัยจึงต้องการที่จะคิดค้นและพัฒนารถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ ให้สามารถลุกยืนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเพื่อให้ดำดงชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมได้เหมือนปกตินั่นเอง


ทางด้าน รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าวว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนารถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ ต่อยอดและผลงานให้ผู้พิการได้ใช้งานได้จริง โดยรถเข็นรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ โครงสร้าง (Hardware) ระบบควบคุม (Control System) และซอฟต์แวร์ (Software)

โดยระบบโครงสร้างจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ 1. รถเข็นไฟฟ้าแบบธรรมดา 2.โครงสร้างรถเข็นแบบปรับยืน จะประกอบไปด้วย ระบบล้อเคลื่อนที่ 4 ล้อ ลูกสูบเพื่อปรับยืน 2 อัน ชุดคันโยก 1 อัน และชุดรัดผู้ป่วยในขณะท่านั่งและท่ายืน สำหรับระบบควบคุม จะประกอบไปด้วย ไมโครคอนโทรเลอร์ รีเลย์ สวิตซ์ แบตเตอรรี่ 12 โวตล์ 2 ลูก และระบบซอฟต์แวร์ จะเขียนด้วยภาษาซี

โดยหลักการทำงาน เมื่อผู้ป่วยนั่งอยู่บนรถเข็น หลังจากนั้นจะเข็นรถเข็นเพื่อให้เข้าใกล้รถเข็นปรับยืนเพื่อรัดช่วงเอวผู้ป่วยและทำการกดปุ่มเพื่อปรับยืน จะทำให้ผู้ป่วยลุกออกจากตัวรถเข็นแล้วมายืนอยู่บนรถเข็นปรับยืนแทน ผู้ป่วยสามารถกดปุ่มเพื่อขับเคลื่อนรถเข็นปรับยืนให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่ต้องการได้ เช่น เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย และเลี้ยวขวา ได้ตามลำดับ

ถ้าผู้ป่วยต้องการกลับมานั่งรถเข็นธรรมดา ก็จะเข็นรถเข็นมาใกล้ๆ รถเข็นปรับยืน หลังจากนั้นจะกดปุ่มเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งและปลดชุดรัดเอวออก จะทำให้ผู้ป่วยนั่งอยู่บนรถเข็นธรรมดา และแยกออกจากรถเข็นปรับยืนทันที


สำหรับผู้สนใจรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนเอนกประสงค์เพื่อผู้พิการต้นแบบ สอบถามรายละเอียดหรือเข้าชมผงงานได้ที่สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 025494746