กลยุทธ์ SYNERGY นำ ‘มาม่า’ คว้าหุ้น ‘ฟาร์มเฮ้าส์’

กลยุทธ์ขยายธุรกิจแบบ SYNERGY หรือ พลังจากการร่วมกันปฏิบัติ ที่ให้ผลลัพธ์ 1+1 > 2 ซึ่งหากวันนี้ใครได้ยินข่าวว่า ‘มาม่า’ ควบกิจการ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ ก็ถือว่าเป็น Synergy เช่นเดียวกัน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม เพราะอาจสร้างผลกระทบในอนาคตต่อธุรกิจได้อย่างคาดไม่ถึง

 

เรามักจะพบคำว่า ‘synergy’ ในสถานการณ์ที่เกิดการควบรวมแผนกหรือบริษัท โดยพบว่าการเกิด synergy นั้นสุดท้ายผลลัพธ์จะ win-win ทุกฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิด“ผลลัพธ์มากกว่าเดิม” จากการร่วมกันบริหารทรัพยากร ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพเป็นทวีคูณ

 

ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ย้อนกลับไปในปี 2560 ‘เครือสหพัฒน์’ มีบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ในเครือที่ทำหน้าที่ลงทุนในกิจการต่าง ๆ ได้ตัดสินใจซื้อหุ้นธุรกิจอาหาร 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) หรือ มาม่า, บมจ.เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ (PR) ซึ่งผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป เส้นก๋วยเตี๋ยวมาม่า และ บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) ผู้ผลิตฟาร์มเฮ้าส์

 

ในขณะนั้นเกิดการ ‘ควบรวม’ บริษัทเข้าด้วยกัน คือ TF และ PR โดยตั้งชื่อว่า บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TFMAMA’

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน TFMAMA ถือหุ้นใน PB เท่ากับ 211,062,800 หุ้น หรือ 46.90% และ
หากมีการควบรวมกิจการ จะส่งผลให้ TFMAMA เข้าถือหุ้น PB ถึง 359,550,000 หุ้น หรือ 79.90% ของหุ้นทั้งหมดในที่สุด

 

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่า ธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น หากมีการขยายกิจการแบบ synergy จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และสามารถส่งเสริมกันและกันในเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี

 

มาม่า

ความน่าสนใจของ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ แบรนด์เบเกอรี่ อันดับ 1 ของไทย

ฟาร์มเฮ้าส์ มีรายได้ประมาณ 7,500 ล้านบาทต่อปี และกำไรสุทธิกว่า 1,300 ล้านบาทต่อปี

 

โดยประกอบธุรกิจขายเบเกอรี่ผ่านแบรนด์ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ และมีร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าโดยตรงให้แก่ลูกค้าทั้ง เดลิย่า, มาดาม มาร์โก้ และกู๊ดมอร์นิ่ง ฟาร์มเฮ้าส์ อีกทั้งยังเป็นผู้ป้อนขนมปังให้แก่ ร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง เช่น เคเอฟซี เบอร์เกอร์คิงส์ พิซซ่าฮัท เป็นต้น รวมถึงส่งออกสินค้าแช่แข็ง

 

กลยุทธ์ของฟาร์มเฮ้าส์ คือ การจัดจำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง รวมถึงการมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้วันต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นระบบโลจิสติกส์ที่ดี ทำให้รายย่อยแข่งขันด้วยยากลำบาก อีกทั้งสามารถผลิตเพื่อจัดจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจุบัน ฟาร์มเฮ้าส์ มี Market Cap เท่ากับ 27,787.50 ลบ. ซึ่งถือว่า “ฟาร์มเฮ้าส์” เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีอนาคตสดใส

 

IMPACT

 

  • ผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งอาจกระจุกอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย อันก่อให้เกิดการกระจายรายได้แก่ประชาชนไม่ทั่วถึงในระยะยาว

 

  • ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากกลยุทธ์ขยายธุรกิจแบบ synergy นั้นเสริมจุดแข็งให้แก่ธุรกิจเป็นอย่างมาก ด้วย มาม่า และฟาร์มเฮ้าส์ ถือได้ว่าเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งเสมือนการรวมตัวของกองทัพที่ยากจะล้มลงได้

 

  • กลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับรายย่อย คือ การมองหา strategic partner ที่เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกันทางอ้อม จะช่วยให้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกระดับหนึ่ง

 

  • สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมในไทย เพราะหากเรามองไปบนเชลฟ์วางสินค้า อาจพบว่าสินค้าหลายประเภทนั้น มาจากเจ้าของธุรกิจเพียงรายเดียว ซึ่งรายใหญ่ยังครองตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้รายเล็กไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร

 

ทั้งนี้ กลยุทธ์ synergy ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบจึงต้องรีบปรับตัวโดยอาศัยกลยุทธ์ที่ติดสปีดการเติบโตให้แก่ธุรกิจ หากแต่ synergy นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของพลังการร่วมมือกันด้านบวกด้วย มิฉะนั้นแล้วจะกลายเพียงเป็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” และทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเปราะบางในที่สุด