“ฟู้ดแพชชั่น” วางเป้าหมายองค์กรจูงเก่า-ใหม่ไปด้วยกัน

ธุรกิจครอบครัวเหมือนสายเลือด เหมือนพันธุกรรม มีการส่งต่อและหล่อหลอมมาเป็นคนรุ่นใหม่ นั่นทำให้จิตวิญญาณยังเหมือนเดิม

ถึงวันนี้บาร์บีคิว พลาซ่า จะเปลี่ยนชื่อเป็นฟู้ดแพชชั่น แต่ดีเอ็นเอยังคงเดิมอันจะเป็นแก่นที่นำพาไปสู่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตคือรูปแบบการบริหาร เรื่องธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู้กับการแข่งขัน ส่วนวิสัยทัศน์และความเชื่อยังเป็นตัวตนที่เปลี่ยนเป็นคนอื่นไม่ได้


แม้ธุรกิจครอบครัวจะเป็นองค์กรที่อยู่มายาวนาน มีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว แต่ในโลกธุรกิจยุคใหม่ต้องมีเรื่องนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งสิ่งที่ต้องทำเรื่องแรกคือ จะทำอย่างไรให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรที่มีอยู่แล้ว และสองเมื่อมีหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมา จะบริหารความแตกต่างภายในองค์กรเดียวกันอย่างไร เพราะหน่วยธุรกิจเดิมนั้นใหญ่มาก มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเองมาก่อน ขณะที่ยูนิตใหม่มีขนาดเล็กมาก มีโอกาสสูงที่จะถูกกลืน นั่นเป็นความท้าทาย ดังนั้น สิ่งที่ทำคือต้องวางเป้าหมายองค์กรให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยธุรกิจใหม่และเก่าต้องเดินไปด้วยกัน

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารเจน 2 แบรนด์ “บาร์บีคิว พลาซ่า” แลกเปลี่ยนมุมมองการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจครอบครัวบนเวที Upside Down : Rising to the Golden Opportunity of Global Disruption ว่า

“การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากเรื่องการตลาดก่อน โดยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ มองหาตั้งทีมตลาดเลือดใหม่ทั้งหมด ทำออฟฟิศใหม่ให้ทันสมัย ซึ่งเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ไม่รู้ว่านั่นเป็นการจัดตั้ง Innovation Unit มาถึงตอนนี้คิดว่านี่คือการสร้างนวัตกรรมในองค์กรอาจจะเป็นเชิงโครงสร้าง แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้ว่าก็เป็น Innovation Culture เป็นการทำให้ทั้งสองยูนิตเดินไปด้วยกัน โดยเฉพาะการสร้างเลือดใหม่ในองค์กร ต้องล้อมกรอบให้มีพื้นที่ในการเติบโตแสงแดดส่องไปถึง”

สำหรับวิธีการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น จะเริ่มจากการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นจริง ด้วยคำง่าย ๆ ให้เห็นภาพ เพราะหากพนักงานไม่รู้สึกกับการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ให้ความร่วมมือ ไม่คิดอะไรใหม่ แต่ถ้าพนักงานรับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยตัวเอง มองเห็นสัญญาณความยากลำบากในอนาคต ได้ออกไปเปิดตาดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงกระทบกับชีวิตบ้าง ก็จะยอมรับด้วยตัวเอง

ท่ามกลางความท้าทายในปัจจุบัน มองว่าการทำธุรกิจครอบครัวมีข้อดีคือ มีความคล่องตัว ตัดสินใจได้ง่าย ปรับได้เร็วกว่า สิ่งสำคัญมีความเป็นผู้นำอยู่ในดีเอ็นเอ ทำให้มีความได้เปรียบ กล้าคิด กล้าลอง ซึ่งสิ่งที่ท้าทายมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องเข้าใจให้ลึกซึ้ง และอีกหนึ่งสิ่งคือ คู่แข่งข้ามสายพันธุ์ โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ ที่เข้ามาในทุกทิศทางแบบไม่ได้ตั้งตัว จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น แม้เป็นธุรกิจดั้งเดิมแต่ต้องไม่อุ้ยอ้าย