ฟรี ค่าธรรมเนียมของธนาคาร

มองอีกด้านของคำว่า ฟรี ค่าธรรมเนียมของธนาคาร

ดูเหมือนศึก ฟรีค่าธรรมเนียมธนาคาร จะได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากที่พร้อมเพย์ เปิดให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินที่ฟรีค่าธรรมเนียม ก็ได้ความสนใจจากประชนมากมาย ธนาคารต่างๆจึงยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมบางรายการออก เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการกับธนาคารมากขึ้น

ธนาคารพาณิชย์ พากันยกเลิกค่าธรรมเนียม

จะเห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผานมา ธนาคารพาณิชย์ บางรายเริ่มหันมาดึงดูดลูกค้าด้วยให้บริการฟรีค่าธรรมเนียมบางรายการ โดยธนาคารพาณิชย์แรกที่เริ่มต้นให้บริการ คือ

ธนาคารทหารไทย TMB เปิดให้บริการ TMB All Free ใช้ ATM กดเงิน โอนต่างธนาคาร และจ่ายบิล ฟรีค่าธรรมเนียมไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทุกตู้ ATM ของทุกธนาคารทั่วประเทศ โดยเป็นบริการผ่านทั้ง ATM และช่องทางดิจิทัล

ตามมาด้วย ธนาคารธนชาติ เปิดให้บริการ ธนชาติบัญชีฟรีเว่อร์ไลท์ (Freever-lite) ที่จะทำให้คุณทำธุรกรรมการเงินได้สะดวก พร้อมสิทธิประโยชน์ในการถอนเงิน สอบถามยอด ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล ได้ฟรีทุกค่าธรรมเนียม แบบไม่มีเงื่อนไข

และธนาคารกรุงศรี เปิดให้บริการ กรุงศรีออมทรัพย์จัดให้ ทำธุรกรรมการเงินฟรี ไม่ว่าจะเป็น โอนเงิน ผ่านกรุงศรี พร้อมเพย์ กดเงินทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วไทย ได้ไม่จำกัด และ จ่ายบิล 5 บิล/บัญชี/เดือน
(30 มีนาคม 2561) ธนาคารกรุงศรีประกาศฟรีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่าน Krungsri Mobile Application (KMA) และ Krungsri Online (KOL) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด โดยธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่ยกเว้นค่าธรรมเนียม ได้แก่ การโอนเงินข้ามเขตข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงินมือถือ และกดเงินไม่ใช้บัตร (Krungsri Cardless) ที่มา ธนาคารกรุงศรี

ล่าสุดธนาคารยักษ์ใหญ่ อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ก็ได้ประกาศเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบริการตั้งแต่ 26 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ใน 4 บริการ ผ่าน Easy Net และ Easy App ฟรีค่าธรรมเนียมแบบไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ โอนข้ามเขต ข้ามธนาคาร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง, จ่ายบิล สินค้าและบริการ, เติมเงินมือถือ ทุกค่าย, กดเงินไม่ใช้บัตรทั่วไทย (แปลว่าต้องมี แอพ SCB EASY เพื่อกดเงินจากตู้ ATM แบบไม่เสียค่าธรรมเนียม)

ตามมาติดๆ ด้วย ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมผ่าน K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม จนถึงสิ้นปีนี้ ด้วยบริการดังนี้ โอนข้ามเขต/โอนต่างธนาคารแบบทันที ไม่จำกัดจำนวนครั้ง , จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ, เติมเงินมือถือ

และธนาคารกรุงเทพ ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางช่องทางดิจิทัล ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง และทางอินเทอร์เน็ต บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง  พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็ม สำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรธนาคารกรุงเทพ ที่ทำธุรกรรมโอนถอนเงินข้ามเขตจากบัญชีธนาคาร และการโอนเงินไปบัญชีต่างธนาคารทางบัวหลวงเอทีเอ็ม ต้ังแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

ในด้านของ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป ธนาคารกรุงไทยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน KTB netbank จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ผลักดันสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง

กสิกร ยอมเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน

ธนาคารกสิกร ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มากขึ้น จึงตัดสินใจยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ธนาคารมีต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่ลดลงในระยะยาว ช่วยลดต้นทุนให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับส่วนรวม ร้านค้า และลูกค้าที่ใช้บริการ โดยคาดว่าการงดค่าธรรมเนียมนี้จะทำให้ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านรายการภายในกลางปีนี้

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ประมาณ 196,000 ล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดประเภทของค่าธรรมเนียมและบริการไว้ 12 ประเภท ดังนี้

  1. การรับรอง รับอาวัล และค้ำประกัน
  2. บัตรเครดิต
  3. บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
  4. บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน
  5. บริการที่ปรึกษา
  6. ค่าธรรมเนียมจัดการ
  7. การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้
  8. การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า
  9. ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค
  10. ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครคิต
  11. ค่านายหน้า
  12. ค่าธรรมเนียมและบริการอื่น ๆ

 

ถ้าขาดรายได้จากค่าธรรมเนียม ธนาคารจะหารายได้จากไหน

ค่าธรรมเนียมถือเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งของธนาคาร และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต ธนาคารต่างๆจึงหาทางสร้างรายได้จากส่วนอื่นแทน อาทิ

  • ลดต้นทุนการจัดการเงินสด – บริการที่ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม คือ โอน จ่ายบิล และเติมเงิน ถ้าไม่นับกดเงินสดไม่ใช้บัตร เป็นบริการดิจิทัลที่ลดต้นทุนการจัดการเงินสด ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ 2% ของปริมาณเงินสดที่มีการเคลื่อนไหว เท่ากับว่าเงินสดจะลดการเคลื่อนที่แต่ธุรกรรมยังเกิดขึ้น
  • เมื่อจำนวนผู้ใช้ธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น มีโอกาสลดจำนวนตู้ ATM ในอนาคต ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล
  • เปลี่ยนสาขาธนาคารให้เป็นศูนย์บริการ ในอนาคต ธนาคารอาจจะไม่ลดจำนวนสาขา (ยกเว้นจุดที่ซ้ำซ้อน) แต่เปลี่ยนเป็นจุดให้บริการแบบอัตโนมัติ และศูนย์บริการ ด้านการลงทุน, บริการธุรกิจ, บริการทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นบริการที่ยังเก็บค่าธรรมเนียมได้

การที่ธนาคารต่างๆ หันมาให้บริการ Mobile Banking หรือ Digital Banking เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนร้านค้าและผู้ใช้ทั่วไป และเข้าถึงผู้ใช้มากขึ้น ไม่ได้หวังเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม เพราะธนาคารต่างๆ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในอนาคตค่าธรรมเนียมต่างๆ จะเริ่มลดลง จึงต้องตัดสินใจยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบางรายการออกไปก่อน

แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ เมื่อธนาคารให้บริการ โอนเงิน-เติมเงิน-กดเงิน-จ่ายเงิน ทั้งหมดฟรีแล้ว ดูเหมือนว่าภาระหนักจะตกไปอยู่ที่ ตู้เติมเงินแทน งานนี้คงต้องรอดูต่อไปว่า ผู้ให้บริการตู้เติมเงินจะมีกลยุทธ์อย่างไรต่อไป

 

เหรียญอีกด้านของมาตรการฟรีของ SCB และKbank

ความคิดเห็นจากโนมูระ

หลัง SCB ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้า online ที่ทำธุรกรรมผ่าน Easy net และ Easy App โดยค่าธรรมเนียมที่ยกเลิกได้แก่ โอนข้ามเขต/โอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน กดเงินไม่ใช้บัตรทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับ KBANK ประกาศ ฟรีค่าธรรมเนียม ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการผ่านทางช่องทาง Digital 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber

ด้านหนึ่งต้องมองว่า นี่คือการเปลี่ยนตัวเองก่อนในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน แต่ก็ต่องยอมรับว่า มาตรการฟรีดังกล่าว อาจจะส่งผลเสียต่อราคาหุ้นของทั้ง 2 แบงก์ และเชื่อว่า จะส่งต่อทุกแบงก์เช่นเดียวกัน

โดยผลกระทบระยะสั้นจากคำวิเคราะห์ของโนมูระ บอกว่า จะส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของ SCB ราว 2 – 3% ของรายได้รวม ในขณะที่คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมของ KBANK เสียหายราว 3 – 4% ของรายได้รวม

ส่วนในระยะกลางถึงระยะยาว แม้ธนาคารจะได้ฐานลูกค้าเข้ามามากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารในแบบ cross selling โดยเชื่อว่าจะสามารถชดเชยการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมบางส่วนได้

ถึงตรงนี้ ฟรี อาจดีในมุมของผู้บริโภค แต่ผู้ถือหุ้น ต้องทนเจ็บก่อนนะจ๊ะ

ที่มา ธปน