ผลกระทบจากการกักตุนสินค้าเลวร้ายกว่าที่คิด!! ‘เวิลด์แบงก์’ เตือนห้ามตุนอาหาร-น้ำมันแม้ราคาพุ่ง

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้สร้างผลกระทบต่อทั่วโลกในแง่ของสินค้ามีราคาสูงขึ้น เพราะรัสเซีย และยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งแน่นอนว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้อุปทานข้าวสาลีลดน้อยลง ดังนั้นราคาข้าวสาลีทะยานขึ้นมาต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับอุปทานน้ำมันที่จะลดน้อยลง เพราะรัสเซียคือผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นได้ทำให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มในทุกธุรกิจ (น้ำมันเป็นต้นทุนขนส่ง ซึ่งใช้ในเกือบทุกธุรกิจ) ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้สร้างความตื่นตระหนักกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค จนเริ่มได้เห็นการกักตุนสินค้าในบางส่วนบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ธนาคารโลก (World Bank) กลับมีความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้าม โดย ‘เดวิด มัลพาสส์’ ประธานธนาคารโลกแนะนำประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ อย่ากักตุนอาหารและน้ำมัน แม้ว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม

โดยเขามีมุมมองที่เหมือนกันกับหลายฝ่ายว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกที่รุนแรงกว่าตัวสงครามเอง แต่จากการประเมินในขณะนี้ คาดว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดฟื้นตัว หรือส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกลดลง

ซึ่งการรับมือสถานการณ์อย่างแข็งแกร่งจากผู้ผลิตทั่วโลกจะช่วยเพิ่มปริมาณ Supply ได้เพียงพอต่อความต้องการ และคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องกักตุนสินค้าเพิ่มเป็นพิเศษในภาคครัวเรือนหรือธุรกิจร้านอาหาร

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า Supply พลังงานนอกรัสเซียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่อุปทานด้านอาหารนอกรัสเซียและยูเครนจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงคราม และประคองให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ โดย Supply พลังงานอาจเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอาหาร เนื่องจากการปรับตัวทางการเกษตรมักใช้เวลาประมาณหนึ่งปี

โดย เดวิด มัลพาสส์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ตอนนี้คือ อย่าออกไปซื้อแป้งหรือน้ำมันมากักตุน แต่ขอให้ตระหนักว่าระบบเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการตอบสนอง และสินค้าจะยังคงมีเพียงพอ

ทั้งนี้ในมุมมองของ ‘Business+’ มองว่าการกักตุนสินค้านั้น มีผลกระทบที่รุนแรงต่อกลไกการปรับตัวของราคา และการขาดแคลนสินค้าในตลาด เพราะระดับราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นสูงในสถานการณ์ที่สินค้าขาดแคลน ดังนั้น การกักตุนสินค้าทั้งของผู้ขาย และผู้บริโภคจะยิ่งทำให้สินค้าขาดตลาดมากกว่าเดิม และสุดท้ายจะทำให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น จนผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง และเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ผลิตแสวงหาผลกำไรเกินควรได้อีกด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือประชาชน คือ การใช้มาตรการแทรงแซงกลไกตลาด เช่น การกำหนดเพดานราคา หรือ การให้ความช่วยเหลือด้านต้นทุน หรือแม้แต่การเข้ามาจัดหาสินค้าโดยภาครัฐเอง

หลายครั้งที่การควบคุมราคาขายเป็นสิ่งที่ควรกระทำโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นต่อการใช้ชีวิต เพียงแต่การกำหนดราคาต้องคำนวณอย่างเหมาะสม ด้วยการคำนึงถึงต้นทุน บวกกับกำไรที่เหมาะสม เพื่อจูงใจผู้ผลิต (ต้องไม่สูงเกินไปเพราะจะเป็นภาระผู้ซื้อ และไม่ต่ำจนเกินไปเพราะผู้นำเข้าจะไม่อยากนำสินค้าเข้ามาขายนำไปสู่ราคาตลาดมืด) ดังนั้น ขั้นตอนของการกำหนดราคาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#businessplus #เศรษฐกิจไทย #กักตุนสินค้า #สงครามรัสเซียยูเครน