ภาพจาก kenstone 

ปรับเพื่ออยู่รอด

โลกธุรกิจที่หมุนอย่างรวดเร็ว หากจะอยู่รอดได้นั้น… เพียงแค่การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ผู้ประกอบการไทยจำต้องพลิกโฉม เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในแบรนด์ของตนเองให้โดดเด่นและไม่ซ้ำใคร

จากข่าวนักลงทุนรายใหญ่ที่ย้ายจากย้ายฐานผลิตจากเมืองไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างกรณี เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ใหญ่ที่ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตในไทยและย้ายไปยังเวียดนาม เนื่องจากมีค่าแรงถูกกว่า ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เศรษฐกิจไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวกระโดดไปอยู่ในตำแหน่งประเทศที่มีการเติบโตสูง ‘เศรษฐกิจกระแสใหม่’ (New Economy) จึงเป็นอีกจิ๊กซอว์ที่น่าสนใจของนักธุรกิจไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ให้นิยาม ‘เศรษฐกิจกระแสใหม่’ (New Economy) ไว้ว่า “เศรษฐกิจที่เกิดจากการปฏิวัติด้านเทคโนโลยี และเป็นเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความคิดใหม่ ๆ เพื่อยกระดับให้สินค้าและบริการดียิ่งกว่าเดิม โดยผสานความเป็นธุรกิจเข้ากับวัฒนธรรม เทคโนโลยี และสังคม”

โดยเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่ว่านั้น TCDC ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy), เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) ตามด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเชิงวัฒนธรรม (Creative and Cultural Economy)

และภายในงานเสวนา  ‘เศรษฐกิจใหม่บนความท้าทาย: New World, New Economy, New Challenge’  เริ่มต้นจาก ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ ที่ระบุว่า “โลกเป็นดิจิทัลมากขึ้น เราต้องพยายามใช้ Digital Economy ให้เป็นประโยชน์ทั้งการค้าและการผลิต

ส่วนที่ 2 เรื่อง Creative Economy หมายถึงเศรษฐศาสตร์สร้างสรรค์ที่รังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากวัฒนธรรมเราให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีตัวอย่างเรื่อง อาหาร มวยไทย เรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตามด้วยเรื่อง Bio Economy เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาบริโภคสิ่งสะอาดและไม่ได้มาจากสารเคมีมากขึ้น”

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว Top 3 ของเมืองไทยร่วมแชร์ความคิดเห็นว่า “New Economy เป็นโอกาสของเมืองไทยในแง่ของการใช้ทุนวัฒนธรรม หรือ Cultural Economy ให้เป็นจุดขายเมืองไทยที่สามารถประยุกต์เข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และการผลิตสินค้าให้มีความเป็นไทยร่วมสมัยรวมทั้งมีความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย”

จะเห็นได้ว่า การก้าวสู่ยุค New Economy เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคชิ้นโตสำหรับผู้ที่ไม่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ดังกล่าว งานนี้ The Business+ บอกได้เพียงว่า… “ผู้ที่ปรับตัวเท่านั้นถึงอยู่รอด”