ประชารัฐรักสามัคคี ปลุกคนรุ่นใหม่ ชวนเที่ยวงาน “ผ้าขาวม้าพอใจ” 9-13 กันยายน 63 นี้

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้ผลักดันสินค้าท้องถิ่นของไทยอย่าง “ผ้าขาวม้า” ให้สามารถเพิ่มมูลค่าและเติบโตผ่านการทำงานกับหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐบาล ภาคท้องถิ่น และภาคสถาบันการศึกษามาอย่างยาวนาน เมื่อวานนี้ภายใต้ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีของการผลักดันโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ทางบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จึงได้สานต่อความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 พร้อมชวนคนรุ่นใหม่ มาเที่ยวงาน “ผ้าขาวม้าพอใจ” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “pakaoma next normal”
โดยในงานนี้ทางบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ทั่วประเทศ และภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา และบริษัทภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ประจำปี 2563” ภายใต้แนวคิด “pakaoma next normal” ณ บริเวณโถงชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2563 โดยในงานจะมีการรวบรวมชิ้นงานที่ชนะการประกวดการออกแบบในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และมีนิทรรศการภาพถ่ายที่ชนะการประกวดในปี 2563 ภายใต้ “ผ้าขาวม้ารัก(ษ์)โลก” อีกทั้งยังมีชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือชั้นนำจากทั่วประเทศ 18 ชุมชน นำสินค้ากว่า 200 รายการมาให้ผู้ร่วมงานได้ ช้อป ชิลล์ ไปกับผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าทอมือที่มีความเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร
ซึ่งทางคุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” กล่าวว่า “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือทั่วประเทศมาจนครบรอบ 4 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะทำงานได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนด้วยดีตลอดมา ยังผลให้โครงการผ้าขาวม้า สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และช่วยสร้างรายได้พร้อมเสริมศักยภาพให้กับชุมชนที่เข้ามาร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง”
โดยคุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย นั้นจะช่วยยกระดับผ้าขาวม้าทอมือให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอยของผ้าขาวม้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพ เทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป ขณะที่ในปีแรกของการดำเนินโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย เราได้สนับสนุนชุมชนที่มีฝีมือในการทอผ้าขาวม้า โดยได้เข้าไปช่วยดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น 13 ลิขสิทธิ์ 8 เครื่องหมายการค้า 1 อนุสิทธิบัตร”
ด้านดร. ขวัญรัตน์ จินดา รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย วิทยาลัยเพาะช่าง เปิดเผยว่า “เรามองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะนอกจากจะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแล้ว ก็ยังช่วยพัฒนานักศึกษาซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ให้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ทำงานจริง ๆ และได้มีโอกาสทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนอีกด้วย” เช่นเดียวกับนาย อภิชลักษณ์ แห่งหน นักศึกษาคณะออกแบบ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเพาะช่าง มองว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีซึ่งทำให้ตนเองได้มีโอกาสทำงานจริงร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อนำไอเดียไปสู่การใช้งานได้จริง ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบสินค้า และคาดว่าจะสามารถพัฒนาสินค้าให้เกิดขึ้นได้ภายในปีนี้”
โดยในงานเมื่อวานนี้นอกจากสินค้าที่นำมาแสดงเพื่อให้เห็นถึงการยกระดับสินค้าท้องถิ่นของไทยให้รุดหน้าแล้ว ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Creative Young Designers ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา 6 สถาบันในเครือข่าย EISA (Education Institute Support Activity) ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มหาวิทาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น 7 ชุมชน และสโมสรฟุตบอลชั้นนำของไทย 4 สโมสรเพื่อพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนให้มีความทันสมัย รวมไปถึงการออกแบบของที่ระลึกให้แก่สโมสรฟุตบอลอีกด้วย