ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร พร้อมหนุนนโยบาย 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยระดับโลก

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาคนที่ 10 ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (2550 – 2554) โดยเข้ารับตำแหน่งในปีแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (9 ธันวาคม 2550 – 8 ธันวาคม 2554) และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการนำมหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่การติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลได้ยึดถือเป็นนโยบายหลักสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

“ผมคิดว่า 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยระดับโลก คือความฝันของวงการศึกษาของประเทศไทย ที่สำคัญกว่าชื่อเสียงก็คือว่า การที่จะเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้เราต้องมีคุณภาพในทุกระดับ ไม่ว่าเรื่องการผลิตบัณฑิตที่ดี การมีวิชาการที่เข้มแข็ง มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรม โดยสิ่งนั้นจะต้องทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติ” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าว

ทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในสมัยที่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้นำร่องพัฒนาการเรียน การสอน และการวิจัยที่เป็นเลิศให้สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับนานาชาติ ด้วยการส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลงานวิจัยของคณาจารย์ตามมาตรฐานสากล และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังและคุ้มค่า รวมทั้งได้ผลักดันผลงานการประดิษฐ์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลออกสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ตลอดจนพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นงดงาม

มหาวิทยาลัยใดจะได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่า องค์กรไหนให้ ranking จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันกันในประเทศ สิ่งที่น่าเป็นความภาคภูมิใจควรต้องรักษาไว้ แต่ไม่ควรเปรียบเทียบ เพราะเปรียบเทียบแล้วไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่ทำให้เราดีขึ้น แต่เราควรจะแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ เราต้องยอมรับว่าเรายังไปช้ากว่าประเทศอื่น ถ้าไม่ยอมรับเราจะไปข้างหน้าไม่ได้”

“มหาวิทยาลัยมหิดลมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่แล้ว มีจุดแข็งในเรื่องค่านิยมองค์กร ทั้งยังมีจำนวนบุคลากรสายวิชาการระดับ Ph.D. สูงสุดในประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีการกำหนดเป้าหมายที่ดีร่วมกัน และบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน จะสามารถสร้าง innovation ที่เป็นประโยชน์กับทั้งประเทศไทยและมวลมนุษยชาติได้อย่างมหาศาล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวเพิ่มเติม

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้เริ่มนำทีมออกเยี่ยมทุกคณะ/สถาบัน (Council Visit) ด้วยคำถาม 3 ข้อ คือ ข้อ 1 คณะ/สถาบันของท่านในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอะไรที่น่าภาคภูมิใจ ข้อ 2 อีก 2 ปีข้างหน้า  ได้มีการตั้งเป้าว่าจะทำอะไรบ้าง และข้อ 3 ให้บอกถึงปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข ซึ่งมีกำหนดออกเยี่ยมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน โดยตั้งใจจะนำคำตอบที่ได้จากกว่า 30 คณะ/สถาบัน มาประมวลผลสู่การตั้งเป้าพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างมีทิศทางต่อไป

“ประเทศชาติให้ความหวังกับมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างมากในการที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการ และการผลิตบัณฑิต หากเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ได้กำหนดเป้าหมายที่ดีร่วมกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เชื่อว่า 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยระดับโลกคงอยู่ไม่ไกล และที่สำคัญควรต้องฝึกให้บัณฑิตของเรามี social responsibility รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวทิ้งท้าย