ธ.ก.ส. ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตความเป็นอยู่ของ ‘เกษตรกรอย่างยั่งยืน’

หากจะพูดถึงภาคธุรกิจการเงินของไทยที่เข้ามาดูแลองค์กร ภาคเอกชน ธุรกิจ และชาวเกษตกรไทยมาอย่างยาวนาน หากไม่มีชื่อของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คงจะเป็นไปไม่ได้ วันนี้คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ภายใต้การนำของท่านตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา กำลังเดินหน้าพาองค์กรเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญภายใต้สถานการณ์ประวัติศาสตร์ของโลก

มุ่งมั่นพัฒนาฐานรากของไทย

คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยว่า วันนี้ทาง ธ.ก.ส. มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือลูกค้าไม่ว่าจะเป็น องค์กร เกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเกษตร อันที่สองคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ มิติ โดยเรามีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กระทรวงการคลัง นั้นทำให้เราจำเป็นต้องมีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือในภาคชนบทตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ

อันที่สาม องค์กรของ ธ.ก.ส. เองก็มองในเรื่องของการดำเนินงานของตัวองค์กรด้วย แต่ม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นประเด็นหลัก เป้าหมายหลักที่แท้จริงคือ มุ่งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ นอกจากนี้เรามุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืนเพื่อสังคมไทยอีกด้วย

ซึ่งความมุ่งมั่นทั้ง 3 ข้อนี้ จะไปตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ซึ่งเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านการเกษตร โดยปัจจัยสำคัญคงจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี และการมาของฟินเทค ซึ่งเราก็ต้องมองถึงการเอาปัจจัยดังกล่าวมายกระดับเพื่อสร้าง Dual Transformation ขณะที่ตัว Traditional Banking ทางองค์กรก็ยังคงให้ความสำคัญ เพราะมีลูกค้าของทาง ธ.ก.ส. จำนวนมากยังคงมีความต้องการที่จะเข้ามาทำธุรกรรมแบบเจอหน้ากันอยู่ นั้นทำให้เรายังต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ขณะที่การมาของตัว Digital Banking จะไปตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอีกเป้าหมายที่มีความต้องการบริการที่สร้างความสะดวก และปลอดภัย ลดการสัมผัสเพื่อป้องกันการระบาดของโรค นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมุ่งมั่นที่จะช่วยสร้างลูกค้าให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน องค์กรยั่งยืนด้วยอีกด้วย

การเติบโตของเกษตรกร คือ การเติบโตของ ธ.ก.ส.

คุณธนารัตน์ บอกว่า GDP ของไทยในด้านเกษตรกรมถือเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนรายได้ของประเทศที่สำคัญ การทำให้ GDP ของประเทศสามารถเดินหน้าเติบโตไปได้จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจขององค์กรอยู่แล้ว ส่วนการเติบโตของเกษตกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ โดย ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญในมิติที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างเรื่อง Supply Chain ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

1. กลุ่มที่เป็นต้นน้ำ : กลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับเกษตรกร และกระบวนการผลิต โดย ธ.ก.ส. จะมุ่งเข้าไปช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

2. กลุ่มกลางน้ำ : กลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดย ธ.ก.ส. จะเข้าไปทำให้เกิดการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรวบรวมผลผลิต และกระบวนการแปรรูป รวมไปถึงกระบวนการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมช่องทางการตลาดใหม่ ๆ

3. กลุ่มปลายน้ำ : กลุ่มนี้เป็นเรื่องของตลาด โดยปัจจุบันตลาดที่มีความสำคัญคือตลาดออฟไลน์ แต่ตลาดที่เราเข้าไปช่วยยกระดับคือ ตลาดออนไลน์อย่างกลุ่มธุรกิจ E-commerce เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ และนำมาสู่การตอบโจทย์เศราฐกิจภายในประเทศต่อไป

ขณะที่แนวโน้มทางด้านการเงินของเกษตรกรไทยปัจจุบันถือว่าดีขึ้น แต่ว่าจะมีจุดที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพด้านการเงินของเกษตรกรไทยก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ (NPL) ซึ่งก่อนสถานการณ์โรคระบาดโดยภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร เมื่อเทียบเคียงกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรซึ่งปัจจัยเสี่ยงจำนวนมาก รวมไปถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายในด้านการเกษตรทั้งสิ้น

รวมไปถึงอีกปัจจัยสำคัญคือ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักเมื่อต้องพบกับสถานการณ์การระบาด ทำให้ปริมาณอุปสงค์และอุปทานไม่สัมพันธ์กัน เพราะการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์อีกแล้วในวันนี้ รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อเผชิญกับราคาที่ไม่สอดคล้องของผลผลิตจึงทำให้ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นพิเศษสำหรับเกษตรกรไทย

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus