ทำไมข้าวไทยถึงกลายเป็น ‘ข้าวคนจน’ ในอิหร่าน

‘ข้าว’ ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก รองจาก อินเดีย และเวียดนาม สาเหตุมาจากการที่ไทยมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้เรากลายเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับการยอมรับในลำดับต้นๆ ของโลก

และหากพูดถึงข้าวหอมมะลิ ต้องบอกว่า เราไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยข้าวหอมมะลิของไทยได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากงานประกวดข้าวโลกประจำปี 2564 (World’s Best Rice Award 2021) ซึ่งไทยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศรวมทั้งหมด 7 ครั้ง จาก 13 ครั้ง

แต่รู้หรือไม่ว่า สำหรับประเทศอิหร่านแล้ว ข้าวไทยกลับถูกรู้จักกันในชื่อของ ‘ข้าวคนจน’

เรื่องราวของข้าวไทยที่กลายเป็นข้าวคนจนในสายตาคนอิหร่าน เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน ในช่วงที่เกิดสงคราม ‘อิรัก-อิหร่าน’ ซึ่งสงครามได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ดังนั้น อิหร่านจึงได้เลือกนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพราะมีราคาต่ำกว่าการผลิตในประเทศหลายเท่า และได้เลือกนำเข้าข้าวขาวเกรด B จากประเทศไทยสำหรับการเลี้ยงทหารในกองทัพ

หลังจากนั้นเป็นต้นมาข้าวราคาถูกจากไทยก็จะถูกนำเข้าเพื่อแจกจ่ายและจำหน่ายในราคาถูกให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก นั่นทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ หรือเป็นชนชั้นกลางไม่ให้การตอบรับที่ดีกับข้าวไทย เมื่อเทียบกับข้าวบาสมาติของอินเดีย และปากีสถาน

และการนำเข้าข้าวเกรด B นี้แหละที่ทำให้ผู้บริโภคอิหร่านจำนวนมากรู้จักข้าวไทยในนามของ ‘ข้าวคนจน’ เพราะรสชาติ และคุณภาพไม่เป็นที่นิยม ฉะนั้น ในมุมมองของผู้บริโภคชาวอิหร่านโดยรวม ข้าวไทยจึงมีภาพพจน์ในแง่ลบ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วข้าวที่มีชื่อเสียงของไทย และมีคุณภาพเลื่องลือคือ ‘ข้าวหอมมะลิ’

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยนั้น เริ่มเข้าไปตีตลาดในอิหร่านครั้งแรกปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังการบรรลุการเจรจาข้อตกลงแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) โดยปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิในครั้งนั้นมีจำนวนจำกัด และสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าเฉพาะหรือสั่งซื้อทางอินเตอร์เนตเท่านั้น ทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ขณะที่ผู้บริโภคหลายกลุ่มยังไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวไทย เพราะติดภาพลักษณ์ของข้าวราคาถูก

แต่ภายหลังการคว่ำบาตรรอบใหม่ในปี 2561 ส่งผลให้เศรษฐกิจของอิหร่านถดถอยอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบรุนแรงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ราคาข้าวในตลาดอิหร่านจึงได้ทะยอยขยับตัวสูง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือด้วยการแซกแซงราคา แต่ยังไม่สามารถเข้ามาควบคุมราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะปริมาณข้าวในประเทศที่ค่อนข้างน้อย ประกอบกับรัฐบาลประสบปัญหาด้านการนำเข้าข้าว ทำให้ที่ผ่านมารัฐต้องนำข้าวที่เหลือในคลังสำรองออกมาจำหน่ายในราคาถูก เพื่อพยุงราคาข้าวในประเทศและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้เพื่อเป็นการตรีงราคาข้าวในตลาด รัฐบาลอิหร่านจึงหาแหล่งนำเข้าข้าวมีคุณภาพ ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศมาเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ

ดังนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดไฟเขียวให้เอกชนจัดหาและนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าวและข้าวราคาสูง ให้ทันกับเทศกาลมะฮะรัม (พิธีกรรมไว้อาลัยให้กับบุคคลสำคัญทางศาสนาตามความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ใช้เวลานานประมาณ 2 เดือน ระหว่างกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี) เพราะเทศกาลมะฮะรัม คนในประเทศจะต้องทำบุญบริจาคทานให้กับผู้ยากไร้และผู้ล่วงลับ ทำให้มีความต้องการข้าวในปริมาณสูงมาก

ซึ่ง สมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน เปิดเผยข้อมูลว่า ข้าวที่ภาคเอกชนอิหร่านอยู่จะนำเข้ามาเป็นข้าวหอมชั้นหนึ่งและมีคุณภาพสูง (พันธ์ Jasmine และ Homali) ที่มีคุณสมบัติในแง่ของกลิ่น และรสชาติที่ใกล้เคียงกับข้าวหอมพันธ์ Tarom ของอิหร่านที่ได้รับความนิยมสูง

โดยอิหร่านได้เคาะแหล่งนำเข้าสำคัญมาจาก 3 ประเทศ นั่นคือ ไทย อินเดีย และปากีสถาน

ดังนั้น การที่อิหร่านปลดล็อกการนำเข้าโดยเอกชนทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกข้าวของไทย ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 มี.ค.2565 อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแล้วปริมาณ 390,000 ตัน (ราว 97,500 ตันต่อเดือน) ซึ่งปริมาณนำเข้าดังกล่าวยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ เพราะความต้องการข้าวจากต่างประเทศของอิหร่านในความเป็นจริงจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 160,000 ตัน

ถึงแม้ว่าการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยน่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อรักษาปริมาณสำรองความมั่นคงทางอาหารของอิหร่านเป็นหลัก เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมปริมาณและราคาในตลาด

แต่หากไทยเราสามารถตีตลาดข้าวพรีเมียมได้ก็จะทำให้ผู้บริโภคในอิหร่าน รับรู้ถึงคุณภาพข้าวหอมมะลิของไทย และสามารถป้อนผลผลิตให้กับอิหร่านได้เพิ่มขึ้น

ซึ่ง การนำเข้าข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพของไทย ในช่วงแรกอาจจะต้องสร้างความรับรู้และภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดอิหร่านให้รู้จักข้าวคุณภาพของไทยใหม่ และลืมภาพลักษณ์ข้าวเกรด B ดังนั้น ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ มองว่าการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวหอมมะลิไทยในตลาดอิหร่านจึงยังคงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในอนาคตที่กฎระเบียบด้านการทำกิจกรรมทางการค้าของหน่วยงานต่างประเทศในอิหร่านผ่อนคลายลง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : ditp

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ราคาข้าว #ข้าวหอมมะลิไทย #ข้าวไทย