ตลาดทุนไทยหนึ่งในอาเซียน

5 ดัชนีชี้วัด ตลาดทุนไทยขึ้นแท่นผู้นำในตลาดอาเซียน พร้อมเผยแผนเชิงรุก ผนึกกลุ่ม GMS ผลักดันให้ตลาดทุนไทย ให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก

การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้เกิดความตื่นตัวในทุกภาคส่วน หลายธุรกิจมีการพูดถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับโอกาส และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตลาดทุนไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านดี และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานพัฒนาตลาดทุนของไทย ก็มีแนวทางอย่างชัดเจน ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นตลาดทุนอันดับหนึ่ง และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนให้ได้

นิตยสาร Business+ ได้มีโอกาส สัมภาษณ์ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และมุมมองเกี่ยวกับตลาดทุนไทย ในฐานะตลาดทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน

Business+ : ภาพรวมของการพัฒนาตลาดทุนในปี 2556 เป็นอย่างไร
จรัมพร : ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เรามุ่งเน้นในการพัฒนา คือ เราเน้นที่จะสร้างระบบตลาดทุของเราให้มีความแข็งแกร่ง มีการจัดกลุ่มบริษัทจดทะเบียนใหม่ และมีการจัดกลุ่มผู้ลงทุนเสียใหม่ โดยในการจัดกลุ่มบริษัทจดทะเบียนนั้น เรามีการแบ่งออกเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ บริษัทจดทะเบียนขนาดกลาง และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเอ็มเอไอและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เช่น บริษัทขนาดใหญ่เราก็มีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ลงทุนจากต่างประเทศ หรือในบริษัทขนาดกลางและบริษัทในตลาดเอ็มเอไอ เราก็มีการจัดกิจกรรมในประเทศ เช่น Company Visit เพื่อให้นักลงทุนได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารของ บมจ.

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเรามีเป้าหมายในการพัฒนาให้ตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง และมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนทั้งไทยและเทศ ในอดีตนั้นนักลงทุนต่างประเทศยังมีเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยน้อยกว่าที่ควร เรียกว่าน้อยกว่าศักยภาพทางธุรกิจของประเทศ เมื่อเราเข้าไปดูในรายละเอียด สิ่งที่เราพบคือ นักลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก จะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อ หลักทรัพย์นั้นเป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง โดยต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง ณ 3 ปีก่อนเรามีบริษัทที่เข้าเกณฑ์นี้เพียง 8 บริษัท ขณะที่ประเทศชั้นนำอาเซียนมีอยู่ 25 บริษัท

เมื่อดูในรายละเอียดเราจึงพบว่า จริงๆ แล้ว มี บมจ.มากกว่า 30 บริษัท ที่มีมาร์เก็ตแคปเกิดกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณการซื้อขายน้อยกว่า 10 ล้านดอลลาร์ เราจึงหาวิธีการโปรโมตเพื่อกระตุ้นให้เกิดฟรีโฟลตในหลักทรัพย์เหล่านั้น โดยมีการสรุปเป็นแนวทางกระตุ้น 9 แนวทาง และนำมาใช้กับ บมจ.จำนวน 150 บริษัท เช่น การออก Stock Dividend ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณหุ้นในระบบให้มากขึ้น

ภายหลังจากที่เราส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น ถึงวันนี้เรามีหุ้นมากกว่า 30 ตัวที่มีมาร์เก็ตแคป และปริมาณการซื้อขายที่เข้าเกณฑ์การลงทุนของกองทุนต่างประเทศ ทำให้วันนี้เรามี บมจ.ที่กองทุนเลือกลงทุนได้ เทียบเท่ากับหรือมากกว่าประเทศชั้นนำในอาเซียน และตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่มีหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมากที่สุดในอาเซียน

หรือบางกองทุนจากต่างประเทศ จะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ถูกนำมาคำนวณในดัชนีของ MSCI Global Standard Indices เราก็พยายามพูดคุยกับ บมจ. เพื่อทำให้บริษัทเหล่านั้นมีคุณสมบัติตรงตามที่ MSCI ต้องการ ซึ่งปีที่ผ่านมาเราก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ บมจ.ไทย ถูกนำมาคำนวณใน MSCI ได้ถึง 5 หลักทรัพย์ แต่ทั้งสองแนวทางทางยังเป็นแนวทางระยะสั้นที่ผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

Business+ : ความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายในปี 2556 มีอะไรบ้าง
จรัมพร : ในปี 2556 ตลาดทุนไทย ประสบความสำเร็จโดดเด่นเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนในเรื่องที่สำคัญ หลายเรื่อง
1. มูลค่าซื้อขายหุ้นต่อวันเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท (หรือประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์) สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่มีตลาดทุนมา
2. มูลค่าตลาดรวมของหุ้น IPO อยู่ที่ประมาณ 3.46 แสนล้านบาท ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดดำเนินการ และมีหุ้นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF เป็นหุ้น IPO ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
3. MSCI เพิ่ม 5 หลักทรัพย์ไทยในการคำนวณดัชนีของ MSCI Global Standard Indices ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์ที่มากที่สุดในเอเชีย
4. มี 3 บริษัทจดทะเบียนไทยเป็นองค์ประกอบในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มากที่สุดในอาเซียน
5. บริษัทจดทะเบียนไทยยังมีคะแนน ASEAN CG Scorecard ซึ่งสะท้อนถึงความมีธรรมภิบาลของบริษัทจดทะเบียนที่สูงสุดในอาเซียน

ความสำเร็จทั้ง 5 ประการนั้น บางเรื่องเห็นผลได้เด่นชัด แต่บางเรื่องก็เป็นมาตรฐานในเชิงคุณภาพ แต่ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน เราไม่ใช่เป็น Follower แต่เป็น Market Leader ตลาดทุนไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอาเซียนได้ เพียยงแต่ต้องเกิดจากการคิด และการจัดการอย่างเป็นระบบ

Business+ : ที่กล่าวว่า ผลงาน 5 ด้านเป็นแนวทางระยะสั้น แนวทางพัฒนาตลาดทุนในระยะยาวเป็นอย่างไร
จรัมพร : ในการพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมีสภาพแวดล้อมในการลงทุน (Ecosystem) ที่สมบูรณ์ เหมือนกับความสมดุลในระบบนิเวศวิทยาของป่าไม้ เช่น ในอุทยานแห่งชาติต่างๆ ก็ต้องมีระบบนิเวศวิทยาที่ครบถ้วน มีต้นน้ำ มีป่าไม้ มีพันธุ์ไม้ และมีสัตว์ป่าที่มีความหลากหลาย ยิ่งมีความหลากหลายมาก ก็ยิ่งอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ในมุมของตลาดทุนเอง ก็ประกอบด้วยระบบนิเวศใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มซัพพลาย หรือบริษัทจดทะเบียน กลุ่มดีมานด์ หรือกลุ่มผู้ลงทุน และกลุ่มผู้กำกับและส่งเสริม คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ฝั่งซัพพลาย คือบริษัทจดทะเบียน จะต้องมีเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ มีการบริหารธุรกิตอย่างเป็นระบบ ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง นอกจากนี้ในปัจจุบันนักลงทุนยังให้ความสำคัญไปถึงเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability นั่นคือนอกจากจะมีผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังต้องมีธรรมาภิบาล มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

ด้านฝั่งดีมานด์ คือกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ นักลงทุนเองก็ต้องมีความหลากหลาย มีคุณภาพ มีความลุ่มลึกในการตัดสินใจลงทุน ไม่ใช่แค่มีจำนวนมากเพียวอย่างเดียว แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญในการลงทุน ลงทุนเป็น ทั้งนี้นับรวมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น รายย่อย สถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ และหลักทรัพย์ ต้องมีคุณภาพทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็น Positive Some Game หรือมีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน เพราะตลาดเติบโตขึ้นทุกปี นักลงทุนจึงน่าจะมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ไม่ใช่เข้ามาลงทุนแล้ว 1-2 ปี ก็ขาดทุนแล้วเลิกลงทุนกันไป

ขณะเดียวกันทั้ง บมจ. และนักลงทุนทุกกลุ่มก็ต้องมีคุณภาพไม่ใช่มาทำให้ระบบเสียหาย นักลงทุนเองก็ไม่ควรปั่นหุ้น บมจ.เองก็ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่เข้ามาระดมทุนเพื่อหลอกเงินจากนักลงทุน เรียกว่าทั้งสองฝั่งเองก็ต้องมีคุณภาพ

ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอง เราก็มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล เพื่อสร้างสมดูลให้กับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกฝ่ายดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่นบริษัทจดทะเบียนเองก็ต้องการมีเป็นแหล่งระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำที่สุด คือได้ราคาหุ้นสูงที่สุด
นักลงทุนเองก็ต้องการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้านักลงทุนน้อย หุ้นราคาก็ต่ำ ตลาดก็มีหน้าที่หาคนเข้ามาลงทุนจึงเป็นที่มาของการทำ Set Connect ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายใหม่ที่รองรับปริมาณการซื้อขายได้เกิน 1 แสนล้านบาทต่อวัน และเป็นระบบที่มีความรวดเร็วทันสมัย สามารถเชื่อมต่อระบบได้จากทุกที่ทุกเวลา

ในขณะเดียวกัน ตัวกลางในการซื้อขาย คือโบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ก็ต้องมีคุณภาพ ตั้งแต่ผู้แนะนำการลงทุนก็ต้องมีคุณภาพ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เองก็ต้องมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังต้องมีระบบการซื้อขายที่ดี รองรับรูปแบบการซื้อขายได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งการทำธุรกรรมในช่วงทางปกติ หรือทำธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งอินเทอร์เน็ต และสมาร์ตโฟน

จะเห็นได้ว่า หากจะทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืน เติบโตได้ในระยะยาวนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณภาพในทุกส่วน และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Business+ : แผนงานในปี 2557 เป็นอย่างไร
จรัมพร : ปี 2557 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายในการดำเนินงาน เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในและนอกประเทศ การขยายฐานบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนจึงมุ่งเน้นในเชิงคุณภาพ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งกับสถาบันตัวกลางให้เติบโต และสำเร็จไปด้วยกันด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการและระบบการซื้อขายให้สามารถตอบสนองผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นตลอดปี 2556 เพื่อผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นชั้นนำของภูมิภาคด้วยความสำเร็จใน 5 ด้านดังที่กล่าวไปแล้ว ในปี 2557 เราตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าตลาดรวมจากหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ (IPO) รวม 2.1 แสนล้านบาท และมูลค่าระดมทุนเพิ่มในตลาดหลักทรัพย์ อีก 1.8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ 75,000 สัญญา และจะเพิ่มจำนวนบัญชีในการซื้อขายตราสารอนุพันธ์อีก 15,000 บัญชี ขณะที่จะขยายผู้ลงทุนใหม่ในตลาดหุ้นอีก 80,000 ราย

นอกจากเป้าหมายพื้นฐานแล้ว เรายังมีแผนการขยายฐานสู่ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ GMS ได้แก่ ประเทศกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม เพราะกลุ่ม GMS มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการระดมทุนสูง ซึ่งนอกจากการเปิดช่องทางการเข้าจดทะเบียนของบริษัทโฮลดิ้งแล้ว ยังมีแผนจะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อรองรับรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลาย ได้แก่ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานและการจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น โดยการเติบโตนั้นจะเป็นการเติบโตอย่างมั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยายตัวของ บมจ.ใน GMS ที่ได้มีการขยายการลงทุนใน GMS อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ โรงไฟฟ้าในลาว นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม และการลงทุนอื่นๆ ซึ่งในปี 2557 นี้จะมี บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปกว่า 20,000 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย

นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าผลักดันให้เกิดการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund ซึ่งปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีการตื่นตัวในการตั้ง Infrastructure Fund อย่างมาก ขณะที่หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ยังให้ความสนใจน้อยมาก ซึ่งกลุ่มนี้ สามารถเข้ามาระดมทุนในรูปแบบของ Infrastructure Fund ได้เช่นกัน

และในช่วงต้นปี 2557 นี้ เราจะมีการออก Index ใหม่ เรียกว่า Asian Star Index ที่รวมหุ้น 180 บริษัทจาก 6 ประเทศมาไว้ใน Index เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุน ในกลุ่มอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 8 ของโลก มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งเงินที่ลงทุนใน Index นี้ประมาณ 18-19% จะไหลมาลงทุนในตลาดทุนไทย ทำให้มีเงินลงทุนไหลเข้ามาใสนตลาดทุนไทยมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง เราก็มีแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่พัฒนาระบบ Set Connect ไป ในกลางปี 2557 เราก็จะเปิดให้บริการระบบการซื้อขายใหม่สำหรับตราสารอนุพันธ์ ซึ่งจะทำให้ตราสารอนุพันธ์สามารถซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันกับระบบซื้อขายหุ้น SET CONNECT เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขาย strategic trading ระหว่างตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ได้ในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีจะมีการเปิดให้บริการ ระบบ Settlement and Clearing ใหม่ ให้เป็นนระบบที่มีความเป็นมาตรฐานสากลและสนับสนุนการซื้อขาย multi-currency และmulti-market ซึ่งจะทำให้การลงทุนของไทยมีการเปิดกว้างมากขึ้น จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงอาจจะมีการผลักดันผลิตภัณฑ์หลายตัวของไทยไปสู่ตลาดสากล เช่น ยาง หรือ Gold-ETF อีกด้วย

สรุปเป้าหมายปี 2557 และผลงานปี 2556

  ปี 2557 ปี 2556 (มกราคม – ปัจจุบัน)
มูลค่า Market Cap จาก IPO 210,000 ล้านบาท 288,030 ล้านบาท (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2556)- ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ต่อเนื่อง- จากบริษัทจดทะเบียนใน SET 13 บริษัท mai 14บริษัท กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 7 กองทุน
มูลค่าระดมทุนเพิ่มบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ 180,000ล้านบาท 152,022 ล้านบาท (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2556)
ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 75,000 สัญญา 67,862 สัญญา (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2556)- มีการปรับปรุงหุ้นอ้างอิงของ Single Stock Futures ด้วยการขยายไปสู่หลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
เพิ่มผู้ลงทุนใหม่ในตลาดหุ้น 80,000 ราย 87,574 ราย (ณ สิ้น ไตรมาส 3)
เพิ่มจำนวนบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ 15,000 บัญชี 10,512 บัญชี (ณ สิ้น พ.ย. 2556)