ดีแทคเปิดห้องแชต Stop Bullying ให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งได้ระบาย

ดีแทคจับมือมูลนิธิ Path2Health เปิดระบบปรึกษาผ่านห้องแชท Stop Bullying เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ไม่รู้จะปรึกษาใครและพ่อแม่ไม่รับฟัง เผยผลสำรวจพบเด็กไทยถูกกลั่นแกล้งมากกว่าประเทศอื่นถึง 4 เท่า โดยหากแชตคุยกันรู้เรื่องและผ่อนคลายก็จบ แต่หากเกินจะรับไหวจะส่งต่อไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป

จากผลการวิจัยขั้นต้น (preliminary) ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” โดยเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12% ที่ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า

โดยรูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายา 79.4% ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4% และคนอื่นไม่เคารพ 46.8% ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ การถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และการถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือ เพื่อน 89.2% ตามด้วยผู้ปกครอง 59% พี่น้อง 41.2%โดยครูเป็นลำดับสุดท้าย

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ อาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จากผลกระทบในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการ Child-Friendly Business เพื่อยกระดับกิจกรรมความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจดำเนินการแก่เด็กและเยาวชน จากแนวคิดบนฐานของการทำการกุศล (Charity-based) สู่การทำงานโดยใช้แนวคิดฐานสิทธิ ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ที่ดีแทคมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อตอบแทนสังคม นอกเหนือไปจากการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคม

ทั้งนี้ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกของดิจิทัล จึงเกิดปัญหามากมายต่อสิ่งแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ต จึงต้องมีกลไกที่ดีในการขับเคลื่อน ส่งเสริม ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ซึ่งดีแทคได้มีแคมเปญ Safe Internet อินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึง Stop Bullying ซึ่งเป็นหนึ่งในการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยขาดความยั้งคิด และเป็นการต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

“ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ดีแทคมุ่งเน้นความสำคัญใน 4 เป้าหมายหลัก 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4.ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดี ขณะเดียวกันสามารถสร้างโปรดักส์หรือบริการ ที่อยู่ในมือไปช่วยกันเสริมสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น”

สำหรับโครงการ Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการลดความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชนไม่มากก็น้อย เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชทออนไลน์ ช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเยาวชนเองให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการและความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ P2H ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องนี้

อรอุมา กล่าวว่า ดีแทคมองเห็นถึงปัญหาเด็กไทยยังไม่ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่นำพาพวกเขาเข้าไปอยู่ในวงจรการการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ และตกเป็นเหยื่อในการเป็นผู้แกล้งเสียเอง กรณีนี้อาจเกิดอาการไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มาโรงเรียน แยกตัว เก็บตัว ซึ่งในผู้ใหญ่อาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือ จะไม่ใช่ในเชิงจับผิดหรือสอบสวน เพราะเด็กจะไม่เปิดใจอย่างแน่นอน เราต้องเข้าหาอย่างเป็นมิตร หากไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ อาจจะนำพฤติกรรมมากระทำต่อผู้อื่นได้จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไป

ดังนั้นที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ควรเพิกเฉยที่จะดูแลเอาใจใส่ รับฟังปัญหาหรือสอบถามเรื่องราวต่างๆของเด็กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างเห็นอกเห็นใจ และเมื่อเกิดปัญหาการถูกไล่ออกจากโรงเรียน จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ครูในโรงเรียนต่างๆจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันรับมืออีกหนึ่งช่องทาง โดยต้องปรับวิธีการใหม่ทั้งหมด

ด้านธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการลดการรังแกกันผ่านทางแชต lovecarestation มูลนิธิ Path2Health หรือ  P2H กล่าวว่า โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ดีแทคและมูลนิธิแพธทูเฮลธ์ เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชตออนไลน์ ในการลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชน ช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเยาวชนเองให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการและความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ P2H ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ห้องแชตเลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นการต่อยอดจากโครงการไม่รังแกกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองจากการรังแกกันในทุกรูปแบบ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน กล่าวคือ มาเรียนแล้วต้องมีความสุข รู้สึกอยากเรียน โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ http://stopbullying.lovecarestation.com/ สามารถประเมินตัวเองได้ก่อนว่ารูปแบบไหนที่เข้าใจว่าถูกรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย วาจาหรือออนไลน์ โดยมีทั้งข้อมูลและวิดีโอคลิปให้ศึกษา กระทู้ตั้งคำถามหรือแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนการไลฟ์แชตในเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง

โดยจะเปิดให้บริการในช่วงทดลองในวันที่ 16 มิถุนายนนี้  และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

“บางครั้งน้องๆ อาจจะต้องการเพียงแค่คนรับฟัง แต่หากต้องการความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะช่วยประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หรือหากอยากแชทกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถอินบ็อกซ์มาคุยได้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ซึ่งเราให้คำปรึกษาในเบื้องต้น หากเคลียร์ได้ก็จบ แต่หากเคลียร์ไม่ได้ อย่างเช่นเครียด อยากฆ่าตัวตาย หรือมีภาวะซึมเศร้า ก็จะส่งต่อไปที่คลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และที่คอลเซ็นเตอร์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข”

ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากผลการศึกษาจะพบว่า “เพื่อน” เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้น (early adolescence) อายุระหว่าง 13-15 ปี  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้น ม.ต้น ที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน (peer acceptance) และเริ่มออกห่างจากพ่อแม่ เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง เด็กจะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกสังคม เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน หนีเรียน ขาดสมาธิ ผลการเรียนตกลง มีอาการซึมเศร้า ใช้สารเสพติด และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการพัฒนาการถึงขั้นตราเป็นกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้การดูแลเอาใจใส่เด็กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นพิเศษ โดยสังเกตจากอาการที่จะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่น อาการซึมเศร้า พูดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว ผลการเรียนตก ไม่อยากไปโรงเรียน

“การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ร้ายแรงกว่าในรูปแบบในอดีตมาก เพราะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะปรากฏอยู่นาน และสามารถแชร์การกลั่นแกล้งนี้ให้ขยายวงกว้างอย่างไรขีดจำกัดในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเด็กไทยยังไม่ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่นำพาพวกเขาเข้าไปอยู่ในวงจรการการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ โดยการตกเป็นเหยื่อและการเป็นผู้แกล้งเสียเอง”

ทั้งนี้ เป็นเพราะระดับความรุนแรงอาจยังไม่เท่าต่างประเทศที่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่กรณีเด็กไทยอาจเกิดอาการไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มาโรงเรียน แยกตัว เก็บตัว ซึ่งในผู้ใหญ่อาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าใดนัก ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือการตระหนักและสร้างวัฒนธรรมใหม่สังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปราศจากการกลั่นแกล้งกัน ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้กับเด็ก ด้วยพลังแห่งความรัก เพราพความอบอุ่นของครอบครัวนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก