‘ดิจิทัลเฮลธ์’ (Digital Health) เทรนด์ใหม่ของตลาดบริการสุขภาพ

PwC เผยเทรนด์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ หรือ ‘ดิจิทัลเฮลธ์’ (Digital Health) กำลังมาแรง เหตุช่วยยกระดับบริการด้านสุขภาพ ลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูล แถมต้นทุนต่ำกว่า

ชี้ผู้ให้บริการสุขภาพ-โรงพยาบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มหันมาใช้ดิจิทัลเฮลธ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย-ชนชั้นกลางที่ใส่ใจสุขภาพ แนะหากไทยสามารถนำดิจิทัลเฮลธ์เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ของประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

 

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงรายงาน The Digital Healthcare Leap ที่ทำการศึกษาการให้บริการด้านสุขภาพในตลาดเกิดใหม่ว่า ปัจจุบันธุรกิจบริการด้านสุขภาพเริ่มตื่นตัวในการนำระบบดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ (New Digital Health Models) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลและการให้บริการที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า เพราะทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัยสูง และมั่นใจได้ถึงคุณภาพ
“ดิจิทัลเฮลธ์กำลังเข้ามามีบทบาทในการยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้ โดยถือเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ป่วย หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการ สื่อสารกับสถานพยาบาล รับส่งข้อมูลด้านสุขภาพ และใช้เป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น อีกทั้งยังมีต้นทุนต่ำกว่าระบบบริการสุขภาพแบบดั้งเดิม ทำให้เราคาดว่า กระแสของการใช้นวัตกรรมเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจบริการด้านสุขภาพในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยตอบโจทย์ชนชั้นกลางที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และอาศัยอยู่ในตลาดเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย”

จากข้อมูลของ PwC พบว่า ในปี 2573 จะมีชนชั้นกลางมากถึง 2 ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ประชากรมากกว่า 50% ของตลาดเกิดใหม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

สำหรับระบบดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่นั้น แตกต่างจากบริการด้านสุขภาพที่อาศัยกระดาษเป็นหลัก (Paper-Based Health Solutions) และแบบดั้งเดิม (Traditional Model) ที่นิยมใช้กันในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยดิจิทัลเฮลธ์มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยด้านสุขภาพ เพิ่มการสื่อสารสองทางระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย มีความคล่องตัวในการเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ และสร้างความไว้วางใจในตัวผู้ให้บริการ

ทั้งนี้ การใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์บนคลาวด์ (Cloud-Based Electronic Health Record) ระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แบบเปิด (Open Source Medical Record System) อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearable Device) และแอพพลิเคชันที่นำโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์มาพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ (mHealth Application) ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่ผู้ประกอบการและสถานพยาบาลในปัจจุบันหันมาลงทุน และร่วมมือกับบริษัทเกิดใหม่ขนาดเล็กที่สร้างแพลตฟอร์มเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับตรวจจับกิจกรรมและข้อมูลสุขภาพ รวมไปถึง การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ใช้ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในอดีต

ด้าน เดวิด แมคเคียริ่ง หุ้นส่วน PwC South East Asia Consulting กล่าวเสริมว่า ดิจิทัลเฮลธ์ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการสุขภาพและสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย โดยมองว่า ดิจิทัลเฮลธ์จะสามารถช่วยพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลอย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาในตลาดเกิดใหม่ให้แซงหน้าตลาดที่พัฒนาแล้วได้เพราะตลาดเหล่านี้ส่วนใหญ่ลงทุนไปกับการติดตั้งอุปกรณ์ราคาแพง รวมถึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรม และการซ่อมบำรุง เป็นต้น

รายงานของ PwC ระบุว่า ต้นทุนโดยเฉลี่ยของการใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์แบบดั้งเดิมของโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 14,500 ดอลลาร์ หรือราว 505,000 บาทต่อเตียง คิดเป็นต้นทุนการดำเนินงานสูงถึง 2,700 ดอลลาร์ หรือกว่า 94,000 บาทต่อเตียงต่อปี

เดวิด ไวจีแรตนี หัวหน้า PwC Growth Markets Centre กล่าวว่า “ดิจิเฮลธ์ไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระในการฝึกอบรมหมอและพยาบาลใหม่ ช่วยลดปริมาณเตียงคนไข้และจำนวนสถานพยาบาล ทำให้ภาครัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ และเปิดโอกาสให้รัฐสามารถนำเงินงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆได้”
0e9ecb853c9a67382e2f6164ab39e6ec

แนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพสูงขึ้น

วิไลพร กล่าวว่า การขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ประชาชนในภูมิภาคหันมาใส่ใจในการรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยต้องการได้รับการรักษา และเข้าถึงบริการที่ดีกว่า ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ดีขึ้น

จากข้อมูลของ Business Monitor International (BMI) คาดว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของการใช้จ่ายด้านสุขภาพของตลาดเกิดใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2563) จะอยู่ที่ 9% เนื่องจากรายได้ของประชากรสูงขึ้น

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศในตลาดเกิดใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมด้านดิจิทัลเฮลธ์มาใช้กันมากขึ้น เช่น ในฟิลิปปินส์มีการนำระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แบบเปิดเข้ามาใช้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่เรียกว่า CHITS (Community Health Information Tracking System) ขณะที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนในฟิลิปปินส์และมาเลเซียเริ่มมีการย้ายระบบการจัดเก็บข้อมูลมาไว้บนคลาวด์อย่างแพร่หลาย เพื่อรองรับการจัดเก็บฐานข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบดิจิทัลเฮลธ์มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การให้บริการผ่านแอพพลิเคชันด้วยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการพบแพทย์แบบออนไลน์ แทนการไปหาหมอแบบปกติ สำหรับการยกระดับการสาธารณสุขของชุมชนห่างไกล และการสั่งยาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-prescription) เป็นต้น
digital-health

ความท้าทายของผู้ให้บริการยุคดิจิทัล

ความท้าทายของสถานพยาบาลและผู้ให้บริการด้านสุขภาพในระยะต่อไป คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และเชื่อมต่อกับระบบเดิมในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในเชิงลึกและให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วย โดยยึดหลักของการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วยเป็นหัวใจของการบริการ

“หากผู้ประกอบการละเลยเรื่องนี้ ก็มีความเสี่ยงที่ลูกค้าจะหนีไปใช้บริการเจ้าอื่นแทนได้ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยในอินโดนีเซียที่เดินทางมารับการรักษาในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและไทยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากอาจได้รับบริการที่ดีกว่า อย่างไรก็ดี เรามองว่า การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดความพร้อม และจำนวนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศในแถบนี้” นางสาว วิไลพร กล่าว

การดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้อัตราการเกิดของกลุ่มโรคเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) เช่น เบาหวาน (Diabetes) โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) และ มะเร็งเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงานระบุว่า 75% ของอัตราการเสียชีวิตของประชากรในตลาดเกิดใหม่เกิดจากสาเหตุของการมีโรคเรื้อรัง

PwC ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 4.1% ของประชากรทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 2555 ขณะที่ภายในปี 2593 คาดว่า 30% ของประชากรไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 65 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะส่งผลให้ตลาดดิจิทัลเฮลธ์ได้รับความนิยมมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ดิจิทัลเฮลธ์จะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านบริการสุขภาพและสถานพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้รวดเร็ว และสามารถคาดการณ์แนวโน้มทางด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก ซึ่งปัจจุบัน ผู้ให้บริการภาคเอกชนของไทยหลายรายเริ่มนำนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่นี้เข้ามาใช้ในการให้บริการบ้างแล้ว ขณะที่ภาครัฐเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth) มาให้บริการแก่ประชาชน

“นอกจากดิจิทัลเฮลธ์จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพแล้ว ยังช่วยยกระดับมาตรฐานบริการสุขภาพของไทยในระยะยาว โดยเรามองว่า ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องสามารถประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อร่นระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูล ลดช่องว่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นและส่งมอบบริการที่ดีโดยยึดความต้องการของคนไข้เป็นหลัก”