จับตาสินค้าเกษตรไทย ใครเป็น “ดาวรุ่ง” “ดาวร่วง”ปี 2560

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ยก “อ้อย” เป็น “ดาวรุ่ง” สินค้าเกษตรไทยปีหน้า ผลผลิต “กุ้งขาว” รีเทิร์นเพิ่มต่อเนื่องด้านมันสำปะหลัง ยังน่าห่วง ชี้รัฐเร่งดูแลหลังจีนลดนำเข้า แนะเกษตรกรลดพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยวตามรอยพระราชดำรัส ช่วยรัฐปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจากระดับจุลภาค

 

 TMB Analytics

 

ภาคการเกษตรแม้มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของ GDP ไทย แต่ 1 ใน 3 ของคนทำงานในประเทศหรือ 12.4 ล้านคนเป็นเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาค ดังนั้นสินค้าเกษตรจึงเป็นแหล่ง “สร้าง” และ “กระจาย” รายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง กุ้ง มีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท กระจายไปสู่เศรษฐกิจภูมิภาคในแต่ละปี หากเปรียบเทียบแล้วพบว่า มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณลงทุนโครงการรถไฟฟ้าหลากสี 11 สาย ระหว่างปี 2558-2564 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ดังนั้น หากราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในแนวโน้มที่ดี ก็เสมือนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้โดยไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น

 

 

สินค้าเกษตร “ดาวรุ่ง” ที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องถึงปีหน้า คือ “อ้อย” เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ปลายเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 19.8 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากราคาเมื่อเดือนมกราคม 2559 โดยราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากราคาทำจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2558 และคาดหมายว่าราคายังอยู่ในแนวโน้มที่ดีในปีหน้าหลังอุปทานตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยิ้มได้จากราคาอ้อยฤดูกาลผลิต 2559/60 สูงกว่าปีที่ผ่านมา

 

 

ด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งกำลังเป็น “ดาวเด่น” สินค้าเกษตรไทย เข้าสู่ภาวะผลผลิตฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากโรคตายด่วนระบาดเมื่อ 4 ปีก่อนทำให้ผลผลิต”กุ้งขาว”ลดลงกว่าร้อยละ 60 กระทบอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยขาดแคลนวัตถุดิบ เราคาดว่าผลผลิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 15 ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ส่วนราคากุ้งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากความต้องการของตลาดโลก กุ้งขาวจึงถูกคาดว่าจะ “รีเทิร์น” กลับมาสดใสอีกครั้ง

 

 

สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้ม “คัมแบ็ค” หลังครองตำแหน่งดาวร่วงมาหลายปีอย่าง “ยางพารา” ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาเฉลี่ยผ่านจุดสูงสุด 174.4 บาท/กก.เมื่อต้นปี 2554 แล้วราคาลดลงเกือบร้อยละ 80 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำเม็ดเงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยางเฉลี่ยเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ล่าสุด ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 59.4 บาท/กก.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่าร้อยละ 60 จากต้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นจากมาตรการเข้าเสริมของรัฐบาล ที่พยายามปรับโครงสร้างการผลิตและใช้ยางของไทย เช่น สนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น และการลดพื้นที่ปลูกยางเพื่อลดผลผลิต เป็นต้น ทำให้ราคายางเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เรียกว่า เป็นดาวที่เริ่มฉายแสงอีกครั้ง

 

 

ส่วนข้าว แม้ว่าราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบปี โดยเฉพาะราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิ ทำสถิติราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อตัน ถือว่าต่ำสุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาปีหน้าอาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2559/60 ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอย่าง เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน

 

 

ด้านสินค้าเกษตรที่ยังค่อนข้างน่ากังวลในปีหน้าคงหนีไม่พ้น “มันสำปะหลัง” ซึ่งราคาลดลงต่อเนื่อง ผลจากจีนอนุญาตให้ใช้ข้าวโพดในประเทศเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนมันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทย (กว่าร้อยละ 45 ของผลผลิตมันสดทั้งปีของไทย ส่งออกไปจีน) ทำให้ราคาเฉลี่ยมันฯ สดคละลดลงจาก 2.2 บาท/กก. ในปีก่อน ล่าสุดราคาเดือนพฤศจิกายนลดลงเหลือ 1.3 บาท/กก. หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นปริมาณ 31.2 ล้านตัน

 

 

ผลกระทบหนักสุดจึงหนีไม่พ้นเกษตรกรที่ลงทุนปลูกในช่วงราคาสูงก่อนหน้านี้กว่า 5 แสนครัวเรือน โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเศรษฐกิจในพื้นที่

 

 

จะเห็นว่าสินค้าทั้ง 5 มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ ส่วนใหญ่ของผลผลิตจะส่งออกในลักษณะของวัตถุดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก นอกจากนี้ราคาก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลักด้วย ดังนั้น หากต้องการให้ราคามีแนวโน้มดีคงหนีไม่พ้นความพยายามในการลดต้นทุนการผลิต การลดพื้นที่ผลิต การเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศและส่งออกที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงขึ้น ภาครัฐจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ผลักดันให้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้เกษตรกรควรน้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฏีใหม่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้มากกว่าการพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงจากราคาสูงกว่า และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน และถือเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรระดับหน่วยย่อยไปพร้อมกันอีกด้วย