ก.อุตสาหกรรมโชว์ศักยภาพศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) 

ก.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน บึงกาฬ ขอนแก่น และอุดรธานี โชว์ศักยภาพศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC)  หวังยกระดับ SMEs ไทย ในธุรกิจยุค 4.0 สู่มาตรฐานสากล

รมช. กระทรวงอุตฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ใน 3 จังหวัด ภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัดบึงกาฬ ขอนแก่น และอุดรธานี เพื่อให้ความช่วยเหลือ บ่มเพาะ และต่อยอดธุรกิจ SMEs ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตระดับชุมชนและผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับ การบริการด้านนวัตกรรม การแปรรูป การออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ หวังยกระดับ SMEs ไทยในธุรกิจยุค 4.0 สู่มาตรฐานสากล พร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก

 


สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการบริการด้านนวัตกรรม การแปรรูป การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

 

และยกระดับการบริการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสู่การเป็น “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC)” เพื่อให้ความช่วยเหลือ บ่มเพาะ และต่อยอดธุรกิจ SMEs ไทยสู่ธุรกิจยุค 4.0 ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตระดับชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านรูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมเปิดให้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 87 ศูนย์

 

ประกอบด้วย ศูนย์ ITC ส่วนกลาง กล้วยน้ำไท ๑ แห่ง ศูนย์ ITC ระดับภูมิภาค 12 แห่ง สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง และศูนย์ Mini ITC 64 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการศูนย์ Mini ITC อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งการทำงานของศูนย์ Mini ITC จะเน้นการให้บริการเบื้องต้น (FRONT DESK) รับความต้องการจากผู้ประกอบการให้บริการด้านการออกแบบชิ้นงาน

โดยมีการให้บริการ 4 ด้าน ดังนี้

1. ITC Match: เป็นศูนย์กลางการจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ

2. ITC Innovation: บริการสาธิต อบรม บ่มเพาะ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม เปิดมุมมองการปรับเปลี่ยนธุรกิจ 3. ITC Share: รวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม

และ 4. ITC Fund: บริการปรึกษาแนะนำสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจ พร้อมทั้งเชื่อมโยงส่งต่อความต้องการไปยังศูนย์ ITC ระดับภูมิภาค (FRONT OFFICE) ที่ตั้งอยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม และ
ศูนย์ ITC ส่วนกลาง (HEAD OFFICE) ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการบริการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด


ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการใช้บริการในศูนย์ ITC ระดับจังหวัด และการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจในเบื้องต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก

 

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 มีผู้ประกอบการได้รับการบริการทั่วประเทศแล้ว27,619 ราย ส่วนใหญ่เข้ามาใช้บริการขอศึกษาดูงานและการฝึกอบรม ประมาณ 11,121 ราย การบริการในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ 465 ราย การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 240 ราย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 208 ราย การให้บริการเครื่องจักรกลาง 275 ราย และการแปรรูปการเกษตรและอาหาร 174 ราย และรอรับบริการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและออกแบบผลิตภัณฑ์ 111 ราย ในส่วนการให้บริการ ณ ศูนย์ Mini ITC มีจำนวน 11,730 ราย

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ทั้ง 3 แห่ง ได้มองเห็นถึงความสามารถผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ ให้ก้าวไปสู่การแข่งขันกับผู้ประกอบการในระดับโลกได้ ซึ่งศูนย์ “Mini ITC” จะเป็นตัวแปรในการเชื่อมโยงการทำงานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นผู้ให้บริการในลักษณะแบบ Front Desk ติดต่อหาลูกค้า ก่อนจะส่งต่องานที่ต้องใช้ทักษะองค์ประกอบทางวิชาการ และองค์ความรู้ที่สูงขึ้น มาที่ศูนย์ ITC ภูมิภาค

 

เพื่อมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในอนาคตเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิตการ Transform SMEs ในภาคการค้า การบริการ และการเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการยกระดับตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อยอดธุรกิจ SMEs สู่ธุรกิจ 4.0 ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านรูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสินค้าปลอดภัยตามมาตรฐานสากล