จอร์จ ธาดา แนะเคล็ดลับ เที่ยวไป ถ่าย(รูป)ไป ไม่มีพลาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงปลายปีจนถึงต้นปีคือฤดูกาลแห่งการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องพกพาไปด้วยไม่ว่าจะทริปใกล้-ไกล เที่ยวในหรือนอกประเทศ นั่นคือ กล้องถ่ายรูป

ส่วนมุมหรือสไตล์ภาพถ่ายสุดฮิตที่นักท่องเที่ยวมักจะยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์รัวๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นภาพ คน วิว-ทิวทัศน์ และสถาปัตยกรรม นั่นเอง แต่การจะท่องเที่ยวไป ถ่ายรูปไป ให้ได้ภาพแห่งความทรงจำกลับมาแบบเพอร์เฟ็คต์ที่สุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะถึงแม้จะมีกล้องดิจิตอลตัวท็อปราคาแพงลิบลิ่ว แต่จังหวะ เวลา และประสบการณ์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ
จอร์จ-ธาดา วาริช ช่างภาพมืออาชีพแถวหน้าของไทย บอกว่า “การถ่ายภาพ โดยเฉพาะระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวนั้น มีตัวแปรสำคัญ 2 ส่วน คือ “ส่วนที่ควบคุมได้” ซึ่งก็คือ กล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ปัจจุบันมีการปรับแต่ฟังก์ชั่นการใช้งานให้ง่ายขึ้นเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงเรื่องของเทคนิคเฉพาะตัว ที่จำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ เป็นเอกลักษณ์ที่เลียนแบบไม่ได้

ต่อมาคือ “ส่วนที่ควบคุมไม่ได้” ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติ คน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตและความอดทน
ส่วนมุมภาพยอดฮิตที่นิยมถ่ายระหว่างเดินทางท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพคน วิว หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็จะมีเทคนิค และรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

การถ่ายภาพ
การถ่ายภาพบุคคล (Portrait) คือ การเน้นภาพของบุคคลเป็นหลัก ซึ่งการถ่ายภาพลักษณะนี้ให้มีความน่าสนใจจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่จะมีวิธีการง่ายๆ ที่เหล่าช่างภาพมือใหม่ควรนำไปปรับใช้ คือ “การสังเกต” ดูว่าบุคคลคนนั้นว่ามีบุคลิกลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำมาสร้างสรรค์การถ่ายให้มีความน่าสนใจ เช่น คนขี้อาย สามารถนำเทคนิคการถ่ายแบบ Candid (แคนดิด) หรือ มุมเผลอ เข้ามาช่วยเพื่อให้ได้รูปภาพที่เป็นธรรมชาติ

ส่วนคนสนุกสนาน ช่างภาพอาจใช้มุมกล้องหรือเลนส์เข้ามาช่วยให้ภาพดูสนุกขึ้น นอกจากนี้การใช้เทคนิคทำให้พื้นหลังหรือองค์ประกอบของภาพที่ไม่ใช่บุคคลเบลอเล็กน้อย หรือการใช้โทนทีที่ต่างออกไป จะทำให้ภาพบุคคลดูเด่นและสวยงามขึ้น เป็นต้น
ส่วน การถ่ายภาพภูมิทัศน์ (Landscape) หรือ ภาพวิว ของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพวิวให้ออกมาสมบูรณ์แบบนั้น นอกเหนือจากภูมิทัศน์ในบริเวณนั้นแล้ว “แสงธรรมชาติ” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ไม่สามารถกำหนดได้ เพราะสถานที่แต่ละแห่งอาจจะมีช่วงเวลาที่แสงสวยที่สุดเพียงวันละครั้งหรือบางวันอาจไม่มีเลยก็เป็นได้
ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายในการถ่ายภาพวิวคือ ควรศึกษาสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่จะถ่ายภาพว่าช่วงเวลาไหนเหมาะสมที่สุด และที่สำคัญคือ “ความอดทน” ในการรอช่วงเวลา หรือการถ่ายภาพมุมเดิมในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อเก็บมาดูว่าในช่วงเวลาไหนที่ภาพถ่ายวิวสวยที่สุด

การถ่ายภาพ
สุดท้ายคือ การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม (Architectural photography) การศึกษาข้อมูลของสถานที่ ในเรื่องของเอกลักษณ์หรือการออกแบบที่โดดเด่น จะทำให้เรามีพื้นฐานความเข้าใจมากขึ้น สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงแนวคิดของการออกแบบนั้นๆ ได้ดีขึ้น อาทิ บางสถานที่เหมาะแก่การถ่ายมุมกว้าง เพื่อโชว์ความยิ่งใหญ่ โดยสามารถใช้เทคนิคเดียวกับการถ่ายภาพวิวได้

แต่บางสถานที่เหมาะกับการถ่ายมุมแคบ เพราะมีรายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจ จะต้องดึงแนวคิดการออกแบบมาสร้างเป็นผลงาน อาทิ การใช้เส้นตรงของกรอบหน้าต่าง เส้นโค้งของประตู มาสร้างเป็นกรอบหรือเฟรมให้กับภาพ หรือการถ่ายภาพจุดเดิมแต่เปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพแนวนี้ และจะทำให้ได้รูปภาพในอารมณ์ที่ต่างกันออกไป”