เซินเจิ้น-กสิกรไทย สาขาประเทศจีน

เซินเจิ้น-กสิกรไทย จุดเริ่มต้นของกสิกรไทย สาขาประเทศจีน

เซินเจิ้น-กสิกรไทย จุดเริ่มและจุดออกสตาร์ท ที่นี่ …

เซินเจิ้น-กสิกรไทย สาขาประเทศจีน

ธนาคารกสิกรไทย แบงก์พาณิชย์ใหญ่ของไทย เอาฤกษ์วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ต่อการเปิดตัวการเป็นธนาคารท้องถิ่นแห่งแรกในจีน และเป็นแห่งที่ 2 ในอาเซียน

ความเชื่อมั่นในพลังของจีนที่บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวกับสื่อมวลชนจากไทยว่า จีนต้องรอคอยการฟักตัวอยู่นานกว่า 20 ปี ถึงจะเข้มแข็งในวันนี้ เช่นเดียวกับการรอคอยของกสิกรไทย สาขาประเทศจีน ในเซินเจิ้น ที่ดูเหมือนว่า กงล้อเริ่มต้นธุรกิจ จะวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นครั้งแรกที่เข้ามาเมื่อ 24 ปีก่อนหน้านี้

จุดเริ่มต้นของกสิกรไทย สาขาประเทศจีน

  • ย้อนกลับไปเมื่อ ปีพ.ศ. 2537 ธนาคารกสิกรไทยได้ก่อตั้งสำนักงานผู้แทนแห่งแรกขึ้นในประเทศจีนที่เซินเจิ้น และยกระดับขึ้นเป็นสาขาในปี 2539 แต่ในปี 2540 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ต้องปิดสาขาในต่างประเทศหลายแห่งเหลือแค่เพียงสาขาในประเทศจีนที่ทางธนาคารตัดสินใจรักษาไว้ทุกสาขา
  • นับตั้งแต่ปี 2545 จนถึง ปี 2550 ธนาคารกสิกรไทยพยายามขยายตลาดในประเทศจีนเพื่อสร้างฐานความมั่นคงในจีนให้แข็งแกร่งขึ้น แล้วในปีนั้นธนาคารกสิกรไทย สาขาเซินเจิ้น ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกรรมเงินสกุลหยวน โดยให้บริการทางการเงินเพื่อเอสเอ็มอีในจีนเป็นใบเบิกทาง
  • ในปี 2556 ธนาคารกสิกรไทยเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยเปิดสาขาเฉินตูอย่างเป็นทางการ และปีต่อมา 2557 จึงเปิดสาขาหลงกั่ง เซินเจิ้นเพิ่มขึ้น
  • ปี 2558 ธนาคารประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการของ บจก. สตาร์ไบรท์ไฟแนนซ์ ซึ่งจดทะเบียนในเซี่ยงไฮ้
  • ปี 2559 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจธนาคารจีนอนุมัติให้เปลี่ยนโครงสร้างของ บจก. สตาร์ไบรท์ไฟแนนซ์ เพื่อยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนในชื่อ บจก. ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) ซึ่งจดทะเบียนในเซินเจิ้น
  • จนมาปี 2560 เดือนกันยายนทีผ่านมานี้ คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจธนาคารจีนได้อนุญาตให้ บจก. ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) และสาขาเซี่ยงไฮ้ที่ตั้งขึ้นใหม่เปิดดำเนินธุรกิจ

เซินเจิ้น-กสิกรไทย สาขาประเทศจีน

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังธนาคารกสิกรไทยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) เต็มรูปแบบในชื่อ “ไคไท่หยินหาง (จงกั๋ว)” หรือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด ด้านหนึ่งถือเป็นภาพที่สมบูรณ์ แต่อีกภาพหนึ่งคือ จะเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคตสำหรับธนาคารกสิกรไทย “ไม่ใช่เราขอใบอนุญาตนาน แต่เพราะบริบทของโลกได้ปรับทิศทางมายังเอเชีย โดยก่อนหน้านี้ได้ปักฐานอยู่ในยุโรปและอเมริกา แต่หลังวิกฤตการเงินปี 2540 ภูมิภาคนี้ได้เรียนรู้เรื่องความเสี่ยง พร้อม ๆ กับการผงาดขึ้นมาของจีน โดยอาศัยการฟื้นตัวกว่า 1 ศตวรรษ เราในฐานะเอกชนประกอบกิจการธนาคาร ย่อมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น สิ่งที่เราต้องพร้อมรับมือและนำเสนอบริการที่ดีแก่ลูกค้า คือเราต้องสร้างโครงข่ายให้แข็งแรง และประการต่อมา เราต้องมีทีมงานและเทคโนโลยีที่ดีต่อการนำเสนอบริการต่าง ๆ ออกไปเอกชนอย่างเราต้องพร้อมมากกว่านี้ แม้เราจะเตรียมตัวมาดี แต่วันนี้จีนไปไกลมากแล้ว คำถามคือ เราจะ Presents บริการของตัวเองอย่างไร”

“ปัจจุบัน รัฐบาลไทยและจีนกำลังผลักดันการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”  (One Belt, One Road – OBOR) และ “ประเทศไทย 4.0” อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (PPRD) ของจีนเข้ากับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับบริการด้าน การเงินข้ามพรมแดน อาจกล่าวได้ว่าการก่อตั้ง บจก.ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ เหมาะสม ธนาคารกสิกรไทยจะคว้าโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อให้บริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้าชาวไทยและจีน ตลอดจนแสดงบทบาทเชิงรุกในด้านการส่งเสริมความร่วมมือฉันมิตรที่ดีระหว่างประเทศไทยและจีน”

เซินเจิ้น-กสิกรไทย สาขาประเทศจีน

จุดยืนในอนาคตของธนาคารกสิกรไทย

เนื่องจากการเข้ามาของ Fintech ทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านระบบ e-payment มากขึ้น ธนาคารกสิกรได้วางแผนการร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนา Digital Banking Platform โดยธนาคารจะอาศัยข้อได้เปรียบจากการเชื่อมโยงระหว่างจีนและ ACE เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของธนาคารในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น

“การเข้ามาของเทคโนโลยีกับการทำธุรกิจธนาคาร ต่อไปคนจะค้าขายกันรวดเร็วมากขึ้นทางออนไลน์ คนไม่เดินเข้าร้านที่เป็นตึก ไม่ว่าเป็นธนาคาร หรือห้างสรรพสินค้า คนอยากชำระเงินก็จะชำระเงินทันที และหากเราไม่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมนั้น เราก็จบ และหากไม่มีใครเห็นเรา อนาคตก็จบ” บัณฑูรกล่าว

บมจ.กสิกรไทย จึงประกาศตัวขอมุ่ง Go Digital ซึ่งในขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับบริษัทฟินเทคของจีน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มแบบดิจิทัลในการให้บริการสินเชื่อเครือข่ายธนกิจ (Supply Chain Financing) แก่ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และที่น่าสนใจคือ บัณฑูรยังตั้งเป้าความสำเร็จในอนาคต มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่มีแพลตฟอร์มที่ลูกค้าในประเทศจีนและ AEC เลือกใช้เป็นอันดับหนึ่ง

ซึ่งเวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าสิ่งที่ธนาคารกสิกรคาดการณ์และวาดฝันไว้จะเป็นจริงได้หรือไม่ Digital Banking Platform ของธนาคารกสิกรจะสามารถเชื่อมโยงบริการของกสิกรไทยในประเทศจีน และบริการของธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ใน ASEAN ตลอดจนก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการชำระเงินในภูมิภาค AEC+3 ได้ดั่งเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หรือโลกแห่งธนาคารและเทคโนโลยีจะมีความท้าทายอะไรอีกบ้างที่บมจ.ธนาคารกสิกรไทยจะต้องฝ่าฟันไปสู่ความเป็นที่หนึ่งให้ได้