กระบวนคิดที่มองออกไปจากกล่องที่ครอบตัวเราอยู่ (Outward Mindset)

Outward Mindset กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด ว่าเป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะช่วยให้องค์กรก้าวผ่านความท้าทายและอุปสรรคไปได้ กระบวนคิดที่มองออกไปจากกล่องที่ครอบตัวเรา พูดง่าย ๆ ก็คือ การมองออกไปให้มากกว่าในกรอบคิดของตัวเอง ไม่ใช่แค่รู้เป้าหมายและความต้องการของตัวเราเอง แต่เป็นการมองออกไป เพื่อเข้าใจเป้าหมายและความต้องการของผู้อื่นด้วย ซึ่งถ้าทุกคนในองค์กรเข้าใจความต้องการของกันและกัน สุดท้ายแล้ว ทุกคนจะสามารถเข้าใจเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน และรู้ว่าต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้

เมื่อทุกคนเข้าใจในแนวคิด Outward Mindset และนำมาปรับใช้ ก็จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดี และมีประสิทธิภาพนั่นเอง โดยวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ หัวหน้าทีมต้องสร้างพื้นที่ให้ทุกคนในทีม ได้มีโอกาสพูดคุยกันด้วยคำถามต่อไปนี้ และต้องทำการจดบันทึกคำตอบเหล่านี้เอาไว้ด้วย

1. สิ่งที่ฉันทำ ส่งผลต่องานของคุณอย่างไรบ้าง ทั้งในทางบวกและทางลบ? คำถามนี้ ทำให้เกิดการมองเห็นและเข้าใจผู้อื่น หรือ “See Others” จากการเปิดเผยของแต่ละคนในทีมว่า ตรงไหนกำลังเป็นปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ

2. ในมุมมองของคุณ ฉันจะช่วยคุณได้อย่างไรบ้าง? คำถามนี้ จะช่วยให้เกิดการ “Adjust Efforts” หรือก็คือ การที่ทุกคนจะมีโอกาสหาแนวทางในการช่วยเหลือ หรือปรับตัวเข้าหาเพื่อนร่วมทีม

3. คุณต้องการให้ฉันติดตามผลสิ่งที่ฉันช่วยคุณอย่างไร และถี่แค่ไหน? เพื่อให้มั่นใจว่าจะช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จ คำถามนี้ เป็นการหาแนวทางการ “Measure Impacts” หรือก็คือ การวัดผลว่าวิธีการและสิ่งที่เราทำไปในขั้น Adjust Efforts นั้นให้ผลลัพธ์ในแง่บวกหรือไม่ โดยการพูดคุยด้วยรูปแบบของ SAM จะช่วยให้หัวหน้าและลูกทีมต่างเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น และเมื่อเราเข้าใจผู้อื่นก็เท่ากับว่า เราเริ่มมี Outward Mindset มากขึ้นแล้ว

เขียนและเรียบเรียง : คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน