กฎหมายห่วงโซ่อุปทาน EU จะเข้มงวดขึ้น บังคับผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม หลายพรรคคัดค้าน หวั่นสร้างภาระหนักอึ้งให้เอกชน

ปัจจุบันมนุษย์ต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปในทุก ๆ วัน จึงทำให้หลายฝ่ายเห็นถึงความสำคัญที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งปกป้องสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชากร

โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมากภายใต้นโยบาย Green Deal ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกฎระเบียบมาตรการ และยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง และเสริมสร้างการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ภาคเอกชนในยุโรป รวมไปถึงประเทศคู่ค้าจึงต้องใช้มาตรฐานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของ EU เพราะเอกชนมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างมากจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานเอกชนที่กำหนดไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

โดยล่าสุด ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน’ รายงานว่า มีแนวโน้มที่กฎหมายห่วงโซ่อุปทานในระดับสหภาพยุโรป มีทิศทางที่จะเข้มงวดขึ้น โดยคณะกรรมาธิการ EU ได้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีความเข้มงวดมากกว่ากฎหมายที่เยอรมนีได้เคยเสนอไว้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะถูกนำเสนอต่อไปยังประเทศสมาชิกต่าง ๆ และรัฐสภายุโรป

#มาว่ากันที่ร่างกฎหมายของเยอรมนีกันก่อน
เยอรมนี เป็นประเทศที่อยู่ตรงยุโรปกลางทำให้เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของทวีปยุโรป ซึ่งในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าว โดย สมาชิกสภาของเยอรมนีได้เสนอร่างกฎหมายที่มีความเข้มงวดสูง

ซึ่งกฎหมายยดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนของเยอรมันต่างก็พากันออกมาแสดงท่าทีคัดค้านต่อกฎหมายห่วงโซ่อุปทานนี้ เพราะมีเนื้อหาในกฎหมายระบุว่า “บริษัทใดก็ตามที่มีพนักงานมากกว่า 3,000 คน จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสิทธิมนุษยชนห่วงโซ่อุปทานภายในบริษัทด้วย”

โดยกฎหมายที่เข้มงวดนี้ส่งผลให้มีทั้งกระแสต่อต้าน และสนับสนุนจากพรรคการเมืองมากมาย โดยพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ได้ออกมาเสนอแก้ไขกฎหมายห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว โดยลดจำนวนพนักงานจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3,000 คน ลดลงเหลือเพียง 1,000 คน ซึ่งการเสนอแก้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นไปอีกจึงทำให้เกิดเสียงต่อต้าน/คัดค้านอย่างหนักระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน “อย่างไรก็ตามในที่สุดคณะกรรมการก็ได้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อช่วงกลางปี 2021”

ร่างกฎหมายของเยอรมนีที่ว่าเข้มงวดแล้ว ร่างกฏหมายของ EU ที่ออกมายังมีความเข้มงวดมากกว่าของเยอรมนีด้วยซ้ำ

โดยกฎหมายได้บังคับให้ภาคธุรกิจหรือบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนขึ้นไป ต้องทำการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนเองว่าดำเนินการในลักษณะที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนหรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายดังกล่าวมากเป็นพิเศษ (ถูกคาดการณ์ว่าอาจเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจเกษตร ธุรกิจปลูกป่า และธุรกิจประมง)

ซึ่งเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ของ EU ได้ให้เหตุผลไว้ว่า “ภาคธุรกิจของยุโรปมีความเชื่อมโยงกับแรงงานหลายล้านคนทั่วโลกผ่านระบบห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ EU ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการรักษาสิทธิของแรงงานต่าง ๆ

และในสภาของ EU ก็ได้มีการแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้อย่างหลากหลาย โดยนาย Markus Ferber สมาชิกสภาของ EU พรรค CSU – Christlich-Soziale Union in Bayern (พรรคสหภาพสังคมนิยมคริสต์เตียนแห่งนครรัฐบาวาเลีย) ได้ออกมาโจมตีร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างหนัก ว่า “การที่ภาคเอกชนต้องมารับผิดชอบด้านเอกสารราชการที่เพิ่มมากขึ้นเกินความจำ เป็นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดี”

ด้านนาย Armin Paasch ผู้ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร Miesereor ได้ออกมากล่าวว่า“ข้อดีของร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทานของคณะกรรมาธิการ EU ก็คือ มีการระบุความรับผิดชอบด้านกฎหมายแพ่งที่เกิดขึ้นจากละเลยหน้าที่ดูแลด้านการรักษาสิทธิมนุษยชนและด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน”

เพราะในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้บังคับให้กลุ่มผู้บริหารต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยนาง Cavazzini กล่าวว่า “ภาคเอกชนต้องนำ EU Green Deal (ยุทธศาสตร์ EU ที่มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ในปี 2050) เข้าไปบรรจุไว้ในแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่กฎหมายห่วงโซ่อุปทานของ EU มีความเข้มข้นกว่ากฎหมายเยอรมัน” นอกจากนี้พบว่าผลจากการตอบแบบสอบถามแสดงให้เห็นว่า กว่าครึ่งหนึ่งของภาคเอกชนเยอรมันได้ให้การตอบรับต่อกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างดี

โดยกว่า 30% ไม่พอใจกับกฎหมายดังกล่าว และอีก 15% ไม่ได้แสดงเห็นใด ๆ โดยสมาคมการค้าจำนวนหนึ่งได้เคยแสดงความเห็นไว้ว่า หากกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับทั่วไปใน EU ก็คงไม่สร้างข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบให้แก่ผู้ประกอบการในเยอรมนีมากนัก แต่หลายฝ่ายก็ยังคงแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างมาก

ทาง ‘Business+’ มองว่าการควบคุมห่วงโซ่อุปทานสำหรับภาคธุรกิจถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะหากมีการควบคุมที่ได้มาตรฐานจะทำให้เจ้าของธุรกิจมั่นใจได้ว่า วัตถุดิบที่นำมาเข้ากระบวนการผลิตนั้น ผ่านการตรวจสอบและพิสูจน์ได้ว่าไม่ผิดกฎหมาย (เป็นการตรวจสอบเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานได้) โดยในเยอรมนี และสหภาพยุโรปคาดว่าจะบังคับให้ใช้กฎหมายห่วงโซ่อุปทานได้ภายในปี 2023

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจึงควรติดตามความคืบหน้าของนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมถึงต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้ผ่านมาตรฐาน โดยประเมินว่าองค์กรมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ,กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ESG #ความยั่งยืน