8 สิ่งควรรู้!!
เมื่อต้องฝากบ้านไว้กับเทคโนโลยีในวันหยุดยาว ๆ อย่างอุ่นใจ
อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยกันแล้ว หลายคนคงวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนสมองให้สะใจ สมกับที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดปี ทำให้ต้องจากบ้านเป็นระยะเวลานาน และสร้างความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยอยู่ไม่น้อย ซึ่งวันนี้ Business+ ได้รวบรวม 8 เคล็ดลับดี ๆ จากชไนเดอร์ อิเล็คทริค เพื่อให้ผู้บริโภคยุค 4.0 เตรียมพร้อมให้ดีก่อนออกจากบ้านในวันหยุดยาวนี้
1. ยูพีเอส (UPS) หรืออุปกรณ์สำรองไฟ สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับบ้านยุค 4.0 ที่มีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์หลายชิ้นที่นำมาช่วยอำนวยความสะดวก เพราะเมื่อเกิดไฟดับ อุปกรณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถใช้งานได้เลย ยูพีเอสจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องตระเตรียมเอาไว้ ช่วยให้สามารถวางใจได้ว่าอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ จะมีพลังงานหล่อเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะต้องเตรียมเอาไว้กี่ตัวนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของ UPS และจำนวนอุปกรณ์ที่จะนำมาต่อเชื่อม รวมไปถึงผู้ใช้งานต้องประเมินความเสี่ยงในพื้นที่นั้น ๆ ว่า ถ้าไฟดับโดยปกติจะดับประมาณกี่นาที อย่างไรก็ตาม การเลือกยูพีเอสควรเลือกแบบที่ได้มาตรฐานสากล มีตัวปรับแรงดันไฟฟ้า ป้องกันไฟกระชาก เพื่อถนอมอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ใช้นานๆ ถ้ามี PowerChute™ Personal Edition จะช่วยให้สามารถควบคุมและตรวจสอบสถานะของ UPS ผ่านคอมพิวเตอร์ได้
2. ไวไฟเร้าเตอร์ อุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เช่น กล้อง IP Camera ในปัจจุบันล้วนต้องต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ต และมาแสดงผลในสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต เพื่อให้สามารถสั่งงานและมอนิเตอร์ได้อย่างใกล้ชิดและเรียลไทม์ ดังนั้นก่อนปิดบ้านยาวควรมีการปิด พักเครื่องไวไฟเร้าเตอร์สักครู่ แล้วค่อยเปิดขึ้นใหม่ ป้องกันปัญหาเครื่องร้อนจนแฮงค์ไปเองในระหว่างที่ไม่อยู่บ้าน ที่สำคัญควรมีการติดตั้งผ่านอุปกรณ์สำรองไฟหรือ UPS เพื่อให้เครื่องไวไฟเร้าเตอร์สามารถปล่อยสัญญาณไวไฟได้อย่างต่อเนื่องแม้ช่วงเวลาไฟดับ และเพื่อให้อุปกรณ์ไฮเทคอื่น ๆ ที่ต้องสื่อสารผ่านไวไฟสามารถรับสัญญาณได้ตลอดเวลา
3. กล้องวงจรปิด ปัจจุบันกล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยม โดยเฉพาะ IP Camera เพราะติดตั้งได้สะดวก สามารถดูข้อมูลที่ไหนก็ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เราสามารถตรวจตรารอบบ้านได้ แม้อยู่ห่างไกล แต่หากไฟดับ เราจะไม่สามารถมอนิเตอร์ได้ ดังนั้น กล้องวงจรปิดจึงเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ต้องติดตั้งผ่าน UPS เพื่อให้มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ตลอด และควรตรวจเช็คการเชื่อมต่อ ทดสอบดูผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อให้แน่ใจว่าทำงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก่อนออกจากบ้าน
4. เครื่องให้อาหารสัตว์อัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์อีกทางเลือกหนึ่งของคนรักสัตว์ ที่จำเป็นต้องเตรียมเมื่อสัตว์เลี้ยงต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถสั่งงานเพื่อให้อาหารผ่านสมาร์ทโฟนได้ บางรุ่นมาพร้อมความสามารถให้ผู้ใช้งานหรือเจ้าของพูดคุยกับสัตว์เลี้ยงได้ และเพื่อความแน่ใจว่าเครื่องจะไม่ทำงานผิดพลาดควรมีการตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์และปริมาณอาหารให้เพียงพอ รวมถึงตรวจเช็คแบตเตอรี่ที่มาพร้อมเครื่องให้เรียบร้อย และเพื่อป้องกันความผิดพลาด ควรติดตั้งยูพีเอสเอาไว้ก่อนกับอุปกรณ์ไวไฟเร้าเตอร์ในบ้าน
5. เครื่องปั๊มออกซิเจนสำหรับสัตว์น้ำ หากใครเลี้ยงปลาตู้ราคาแพง ควรตรวจเช็คระบบการผลิตออกซิเจนและสายยางให้ดีว่าไม่มีอะไรเข้าไปติด เครื่องปั๊มไม่มีเสียงดังจนผิดสังเกต ถ้าเป็นไปได้ควรต่อเชื่อมกับยูพีเอส เมื่อเกิดกรณีไฟดับ ไฟตก ที่สำคัญควรถามผู้เชี่ยวชาญว่าเครื่องปั๊มออกซิเจนที่ใช้ เหมาะกับ UPS รุ่นใด และควรประเมินถึงระยะเวลาในการสำรองไฟด้วย
6. ระบบรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ และอุปกรณ์ตั้งเวลารดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ สำหรับบ้านที่มีสวนสุดรัก แม้อากาศในประเทศไทยจะเดาได้ยากว่าหน้าร้อนจะมีฝนตกไหม แต่เราคิดไว้ก่อนว่าฝนคงไม่ตก เราจะได้เตรียมการตั้งเวลาให้เครื่องรดน้ำอัตโนมัติรดน้ำในช่วงเวลาที่เราต้องการได้ ซึ่งอาจต้องตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมีอะไรอุดตันไหม ระบบตั้งเวลาใช้งานดีอยู่ไม่ติดขัด
7. ระบบสัญญาณกันขโมย เป็นอีกระบบที่มีการพัฒนาถึงขั้นแจ้งเตือนผ่านทางสมาร์ทโฟน รวมไปถึงรองรับซิมการ์ด หรือเชื่อมต่อผ่านสัญญาณไวไฟได้ ปัจจุบันมีการนำมาขายอย่างแพร่หลาย ระบบจะส่งเสียงดังหรือให้แสงสว่างเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างวิ่งผ่านเซ็นเซอร์ หรือคุยตอบโต้กับผู้บุกรุก โดยก่อนจะปิดบ้านระยะเวลานาน ควรตรวจสอบระบบเหล่านี้ รวมถึงแบตเตอรี่ให้พร้อมใช้ในช่วงเวลาที่เราไม่อยู่ นอกจากการเลือกใช้ระบบสัญญาณกันขโมย เราอาจสร้างวิธีการของเราเพื่อหลอกมิจฉาชีพว่าอยู่บ้านได้เช่น ตั้งเวลาเปิด/ปิดทีวี ม่านไฟฟ้า หรือ เปิดเพลงเสียงให้ดังควบคู่กันไปอีกด้วย
8. ระบบควบคุมบ้านอัจฉริยะ หรือโฮมออโตเมชั่น นับเป็นระบบที่เหมาะสำหรับบ้านยุค 4.0 ที่ต้องการฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายด้วยการเชื่อมโยงอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สามารถดูผ่านแอปพลิเคชั่นเดียวได้เลย ให้ความครบเครื่องเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยในการจัดการบ้านยุคดิจิทัล ผู้ใช้สามารถสั่งเปิด-ปิด ตั้งค่าให้อุปกรณ์ต่างๆ ทำงานได้อัตโนมัติ และควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ได้ เช่น ระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง สมาร์ททีวี ชุดโฮมเธียร์เตอร์ ระบบม่าน กล้อง CCTV หรือ IP Camera ระบบกันขโมย และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ พร้อมความสามารถในการเชื่อมต่อและทำงานผสานร่วมกับระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ และอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่นเครื่องให้อาหารสัตว์ หรือจะเพิ่มเติมเทคโนโลยีบางส่วนเพื่อพูดคุย แบบเห็นหน้ากับสัตว์เลี้ยงของตนเอง เมื่อเวลาคิดถึง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงไม่เหงา ทั้งยังง่ายในการตรวจสอบสถานะความปลอดภัยได้แบบเรียลไทม์ เช่น เมื่อไม่อยู่บ้าน แต่มีคนมาเยี่ยม จะมีข้อความแจ้งเตือนเข้ามายังสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต เราสามารถดูผ่านระบบออนไลน์ได้เลย ขณะที่ผู้มาเยี่ยมจะพูดคุยกับเราผ่านวีดีโอดอร์โฟน ซึ่งเป็นระบบควบคุมการเข้า-ออกบ้าน นอกจากนี้ หากขณะที่เราไม่อยู่บ้าน และมีผู้บุกรุก เราก็จะรู้ได้ในทันที ซึ่งฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ยังสามารถเพิ่มเติมได้ตามความต้องการ
ง่าย ๆ เพียงแค่นี้ คุณก็สามารถพักผ่อนในวันหยุดยาวอย่างปลอดภัยและไร้กังวลแล้ว