ชายไทยหันมาใส่เครื่องประดับมากขึ้น (Gemstlemen) ดันยอดขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่ม กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา
วงการอัญมณีและเครื่องประดับไทยยิ้มกว้างอีกครั้ง หลังเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยน จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเป็นเพศหญิง แต่เหมือนว่าวันนี้เทรนด์จะเปลี่ยนเพราะผู้ชายเขาก็หันมาใส่เครื่องประดับกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการเลียนแบบและติดตามคนดังในวงการที่มีอิทธิ์พลด้านแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง ทำให้ยอดขายสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับและอัญมณีไม่ว่าจะเป็น ต่างหู กำไล แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ฯลฯ พุ่งขึ้นถึง20%ในรอบหลายปี
การผลิตเครื่องประดับสำหรับผู้ชายใน ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของการดีไซน์ และการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการใช้เครื่องประดับ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้งานแต่ต้องการให้เครื่องประดับนั้น เป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ประจำตัวที่สามารถหยิบมาใช้งานได้ตามโอกาส ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีให้กับผู้ที่สวมใส่
ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวก็สอดคล้องกับผลการวิจัยด้านตลาดเครื่องประดับของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตลาดเครื่องประดับสำหรับผู้ชายมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่า การสวมใส่เครื่องประดับสามารถแสดงออกให้เห็น ถึงความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน
และจากความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเครื่องประดับในประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า มีจำนวนผู้ประกอบการ มากถึง 1,683 ราย ยังไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มหลังนี้จะทำธุรกิจในลักษณะของการขายตรง รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหน้าร้านอีกจำนวนมาก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุไว้เมื่อ เดือนกันยายน 2558 ว่าจำนวนแรงงานในระบบมีประมาณ 5-6 แสนคน และยังมีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ รวมถึงครัวเรือนที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในลักษณะรายย่อยอีกจำนวนมาก
นั่นจึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงมีโอกาสที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐาน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่อง ประดับของโลก
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อปีนี้ คนไทยจะได้เห็นงานแฟร์สินค้าเครื่องประดับและอัญมณีเกิดขึ้นหลายงาน เช่นงานล่าสุดอย่าง Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 58 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดติดต่อกันมาถึง 57ครั้ง (7-11 กันยายน 2559) งานนี้รวบรวมเอาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกในการเข้าร่วมงาน
และสินค้าเครื่องประดับผู้ชายก็ถูกจัดอยู่ใน โซนพิเศษ 6 SHOW CASE โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลี และ ญี่ปุ่น มาให้คำแนะนำ และคัดเลือกสินค้าเพื่อมาจัดแสดง โดยเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าตลาดเครื่องประดับผู้ชายมาแรงจริงๆ
6 SHOW CASE
(1) 60+ Exhibition – กลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ
(2)Pet Parade – กลุ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง
(3) The Moments – กลุ่ม สินค้าสำหรับเทศกาลพิเศษต่างๆ อาทิ งานแต่งงาน
(4) Art & Craft – กลุ่มสินค้า ศิลปหัตถกรรม
(5) Gemstlemen – โซนที่รวบรวมเครื่องประดับสำหรับคุณผู้ชายทุกชนิด
(6) Spiritual & Horoscope – กลุ่มสินค้ามงคลและความเชื่อ ที่คาดว่าจะเป็นโซนไฮไลท์อีกโซนหนึ่งของงานนี้