ตอนนี้พวกเราเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT : Internet of Things) กันแล้ว สิ่งของทุกชิ้นที่อยู่รอบตัวเราจะถูกฝังเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่สามารถส่งและรับข้อมูลจากอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต่อกับอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้อุตสาหกรรมบ้านอัฉริยะ (The Global Smart Home Industry) คือหนึ่งในโอกาสที่หาได้ยากอีกครั้งหนึ่งในยุคนี้
อุตสาหกรรม Smart Home ใหญ่แค่ไหน
จากการสำรวจของ Verified Market Research บริษัทที่วิจัยด้านการตลาดในเดือนมิถุนายน 2021 เผยว่า ในปี 2019 ตลาดธุรกิจนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 826 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 มูลค่าของตลาดจะพุ่งทะยานไปแตะ 3,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คุณ Daniel Cooley ซึ่งเป็น Chief Technology Officer ของบริษัท Silicon Labs มองว่า “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง จะเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตอนนี้และทำมันให้ดีขึ้นในอนาคต มันคือการทำสินค้าให้ดีขึ้นบนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมและความพึงพอใจและอะไรที่คุณต้องการจะทำกับมัน”
แต่ตัวเลขสำรวจจากทาง Statista ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลกับคาดการณ์ตัวเลขสูงมากกว่านั้นเยอะมาก โดยตัวเลขในปี 2021 รายได้ทั่วโลกจากธุรกิจนี้ จากการคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 102,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันก็คาดว่าในปีนี้บ้านที่เป็น Smart Home ทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 259 ล้านยูนิต หรือคิดเป็นอัตรา 12.17% ของบ้านทั่วโลก การเติบโตของจำนวนอุปกรณ์ในปีนี้ทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 537 ล้านชิ้น หรือโตกว่าปีก่อนถึง 50% เลยทีเดียว ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุดคือ จีนและเอเชีย แค่เฉพาะตลาดนี้มูลค่าอยู่ที่ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ Smart Home ทั่วโลกปี 2022-2025
2022—————– 122,922 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2023—————–142,775 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2024—————–162,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2025—————–182,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เทคโนโลยี Smart Home จะช่วยจุดประกายชีวิตอัจฉริยะ
ตู้เย็นอัจริยะสามารถจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนคุณได้ทันทีที่มันตรวจพบว่าสิ่งของในตู้เย็นลดลงอยู่ในจุดที่จำเป็นต้องเติมแล้ว (มันรู้ใจคุณมากขึ้น พอเห็นของชอบของคุณหมดก็เลยเตือน) ด้าน ‘กระจกอัจฉริยะ’ จะรู้ว่าในตู้เสื้อผ้าของคุณมีอะไรบ้าง พร้อมจะแจ้งเตือนคุณว่าคุณควรสวมใส่อะไรเมื่อออกไปข้างนอกในวันนี้ และต้องขอย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่คอนเซ็ปต์อีกต่อไปแล้ว
ภายใต้สถานการณ์ของการระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลกได้บังคับให้คนจำนวนมากหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น และนั้นได้ผลักความต้องการสินค้าด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นจนพุ่งสูงขึ้น คุณ Sarah Housley หัวหน้าฝ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเทคโนโลยีของ WGSN มองว่า สินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกคาดการณ์ว่าในอีกทศวรรษข้างหน้านี้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งพวกเราคาดว่าผู้บริโภคจำนวนมากจะสามารถใช้งานสิ้นค้าเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีความต้องการจะซื้อพวกมัน รวมไปถึงมองหาการลงทุนในพวกมันมากขึ้นไปด้วย
การเติบโตของความสนใจใน อุปกรณ์อัจริยะ และสินค้าที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงภายในบ้านได้นำไปสู่การขายที่เพิ่มขึ้นของอุปกรณ์เหล่านี้ถึง 61% ในปีล่าสุด (2020) เมื่อเทียบกับปี 2019 ตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น มีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 41% ในอุปกรณ์อัจฉริยะด้านสุขอนามัยและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด อุปกรณ์วินิจฉัยโรคโรคส่วนบุคคล และอุปกรณ์ติดตามสุขภาพ เมื่อเทียบกับปีก่อน และอีก 71.5% ที่เพิ่มขึ้นในการซื้ออุปกรณ์ด้านการทำอาหารอัจฉริยะ และอีก 48.2% ในยอดขายของเตาไฟอัจฉริยะที่ติดตั้งกับผนังแบบถาวร
วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี IOT จะนำไปสู่ผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงเสมือน เช่น อเล็กซ่า (Alexa) ที่ต่อไปจะทำหน้าที่ตัวกลางในการสื่อสารกับอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น ๆ จำนวนมากที่กำลังจะกลายเป็น ‘อัฉริยะ’ โดยการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของบ้านอัฉริยะ เช่น ระบบแสงจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าใครอยู่ในบ้านรึเปล่า ถ้าไม่มีมันก็จะแจ้งเตือนเพื่อดับไฟต่อไป รวมไปถึงการเตือนระบบแอร์ที่คุณได้ปิดแล้วรึเปล่า รวมไปถึงความเคลื่อนไหวภายในบ้านที่ผิดปกติก็จะถูกจับเพื่อตรวจสอบซึ่งจะส่งรายงานการตรวจสอบผลไปยังอุปกรณ์อย่างมือถือของคุณต่อไป
การเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้และปลอดภัย 2 ประเด็นสำคัญของ Smart Home
แน่นอนว่าเมื่อ IOT กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากขึ้นและผู้คนก็ต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้นด้วย ทำให้การเชื่อมต่อนั้นจะต้องถูกคำนึงถึงมากขึ้นในแง่ของความน่าเชื่อถือได้และปลอดภัย โดยคุณ คุณ Daniel Cooley ซึ่งเป็น Chief Technology Officer ของบริษัท Silicon Labs มองว่า ประเด็นสำคัญคือ เนื่องจากการที่อุปกรณ์เหล่านี้มีการเก็บข้อมูลตลอดเวลาทำให้ เรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องใหญ่
การขโมยข้อมูลจากจากครัวเรือนผ่านุปกรณ์ IOT สามารถนำไปสู่การโจมตีที่มีวัตถุประสงค์ร้ายได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องควบคุมอุณหภูมิสามารถจะบอกสถานะการอยู่อาศัยของบ้านหลังนั้นได้ว่ามีคนอยู่รึเปล่า ซึ่งตรงนี้อาจจะนำไปสู่การที่ใครบางคนที่เข้ามาขโมยข้อมูลเมื่อตรวจสอบว่าไม่มีใครอยู่บ้าน อาจจะมีการบุกเข้ามาในบ้านของเราได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือ คนเหล่านี้จะสามารถเข้าถึง ข้อมูลที่พักอาศัยส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนตัวของคนนั้น ๆ ข้อความต่าง ๆ ที่เขาพูดคุยกับเพื่อน รวมไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของเขา เป็นต้น
แม้ว่าตอนนี้บริษัทจำนวนมากด้านเทคโนโลยีจะเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว แต่ความท้าทายสำคัญคือ จะต้องแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและความไว้ใจให้ได้ นั้นทำให้บริษัทเหล่านี้จะต้องทำงานหนักมากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ลูกค้าของพวกเขารู้สึกไว้วางใจ พร้อมกับการใช้อุปกรณ์ IOT อย่างกว้างขวางและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความมั่นคงและความน่าเชื่อถือในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เช่น เมื่อการเชื่อมต่อล้มเหลว ประตูที่ล็อกอัตโนมัติจะเปิดโดยตัวมันเอง ระบบแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉินไม่ทำงาน และเครื่องทำความร้อนหยุดทำงานขณะที่คุณกำลังเข้าบ้านด้วยอากาศที่หนาวจัด เหล่านี้คือความเสี่ยงหากการเชื่อมต่อไม่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นเหล่านี้ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างหนักในงานประชุมทั่วโลก ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค 5G ซึ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ขนาดประเด็นบ้านอัจฉริยะยังน่ากลัวขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าและจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะอย่างประเทศจีนที่ถือเป็นโรงงานโลกในวันนี้ ถ้าระบบโรงงานล้มเหลว คนทั้งโลกจะเจอปัญหาไม่มีสินค้าให้ขายทันทีใช่รึเปล่า?
คุณ Simon Long ซึ่งเป็น Director of Workspace Technology ที่ CBRE บอกว่า ใครก็ตามที่อยากจะทำบ้านให้เป็นออฟฟิศอัจฉริยะ สิ่งที่พวกเขากังวลคือ ความมั่งคง ความน่าไว้วางใจ และความคุ้มครองต่อการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของเขาถือเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขากังวล “การเชื่อมต่อจะต้องครอบคลุมแม้กระทั่งในห้องน้ำของพวกเขา เพราะพวกเขาไม่สามารถจะสูญเสียการเชื่อมต่อได้สักวินาที”
ภายใต้การทำงานที่บ้านซึ่งกำลังจะเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลกจากนี้ ทำให้ผู้ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตจำนวนมากจำเป็นต้องขยายแบนด์วิดท์ (Bandwidth) เพื่อให้การบริการด้านนี้ของพวกเขาตอบโจทย์ผู้ใช้งานและคนทำงานที่บ้านในอนาคต ซึ่งตอนนี้คนในสหรัฐกว่า 42% ทำงานที่บ้านแบบเต็มเวลาแล้ว ในเกาหลีใต้จากการสำรวจพบว่า ความหนาแน่นของการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 13% ในเดือนมีนาคม 2020 เมื่อเทียบกับมกราคม 2020
ด้าน สหราชอาณาจักร เองก็เช่นกันมีรายงานจากบริษัท British telecommunications พบว่าความหนาแน่นของการใช้อินเตอร์เน็ตในช่วงเวลากลางวันเพิ่มสูงขึ้นจาก 35% ไปสู่ 60% ในเดือนมีนาคม 2020 เมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องไปกับรายงานจากผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของสเปนอย่าง Telefonica ก็ได้เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของการ Lockdown ประเทศมีการเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในแบนด์วิดท์ (Bandwidth) และ 50% ในความหนาแน่นของข้อมูลมือถือ
ด้านคุณ Victor Xu ซึ่งเป็น Chief sales officer ของ uCloudlink ให้มุมมองว่าจากนี้คนจะไม่สนใจว่าเขาใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตของใคร สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ความเร็ว ความมั่นคง ความน่าไว้ใจในการเชื่อมต่อ และราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ของผู้เชื่อมต่อจากนี้จะสามารถสลับการเชื่อมต่อได้ทันทีที่พวกมันพบว่าตรงนี้สัญญาณเครือข่ายของใครแรงกว่าก็จะเข้าไปจับสัญญาณอันนั้นแทนทันที เพื่อจะรักษาการเชื่อมต่อให้คงที่และต่อเนื่อง
คุณ Victor Xu ปิดท้ายว่า เพราะศักยภาพของ IOT นาทีนี้ต้องบอกว่าไร้ขีดจำกัดสำหรับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านในอนาคต ให้เราลองจินตนาการดูว่า วันหนึ่งที่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าใจมนุษย์ได้มากเพียงพอแล้ว มันจะดูแลเราเหมือนที่คุณหมอดูแลเราเมื่อเราไปโรงพยาบาลเลยทีเดียว
เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล
ข้อมูล : scmp, statista
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Smarthome #บ้านอัจฉริยะ #IOT #เทคโนโลยี #Businessplus