คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาฟันธงธุรกิจไทยปี 2561 ในงาน The Flagship Summit : Future Fast – Forward นำทีมโดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ พร้อมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Chulalongkorn Business School ทั้งดานการบริหารธุรกิจ การบัญชี การจัดการ ข้อมูลเชิงสถิติ การธนาคาร การเงิน การตลาดและแบรนด์ มาร่วมกันฟันธงธุรกิจไทยในปีหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันทุกความเสี่ยง และมุ่งสู่ทุกโอกาส ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้า สยามพารากอน รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการสัมมนาพร้อมบรรยายพิเศษถึง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี 2561 โดยชี้ว่าแนวโน้มในปี 2561 นี้หลายองค์กรต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น IoT (Internet of Things) Big Data and Analytics และ AI (Artificial Intelligence) ในขณะที่ตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประกอบไปด้วย โครงสร้างประชากร เทคโนโลยี การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน พฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น ประเด็นที่โลกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ เช่น Experience Economy การที่คนให้ความสนใจกับประสบการณ์มากกว่าสินค้าที่ซื้อ ส่งผลให้การค้าขายออนไลน์มียอดสูงขึ้นจนต้องมีหน้าร้านเข้ามาเสริม หรือเรียกว่า O2O Premiumization การซื้อของน้อยชิ้น เน้นตอบสนองคุณค่าทางอารมณ์ และมีนวัตกรรม Simplicity การพัฒนานวัตกกรรมที่เรียบง่ายแต่โดนใจผู้ซื้อ Connect Customer ผู้บริโภคเกาะติดการเชื่อมต่อจนเกิดการแบ่งกลุ่มย่อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของช่วงวัยอีกต่อไป แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของการเสพติดดิจิทัล และสุดท้าย Healthy & Ethical Living ไม่ใช่แค่สุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตต้องดีจากการไม่เบียดเบียนใครด้วย รศ.ดร.พสุ กล่าวเสริมว่า นอกจากการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดีต่อเนื่องในปีหน้า ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจการส่งออก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของภาครัฐ เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำพวกคอนโดที่อยู่ตามแนวโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับอานิสงส์ จากการลงทุนของภาครัฐ ในโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นโลจิสติกส์ภายในประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วย เปิดโมเดล-เทรนด์ธุรกิจน่าลงทุนปีจอ สำหรับโมเดลธุรกิจที่จะเห็นการเติบโตในปีหน้า และผู้ประกอบการควรนำมาปรับใช้นั้น จะหนีไม่พ้นเรื่องของโมเดลทดลองใช้ฟรี (Freemium model), Sharing (P2P) และ O2O หรือ Online to Offline ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงจากโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ เมื่อถามต่อถึงเทรนด์ธุรกิจที่จะได้รับความนิยมในปีนี้ รศ.ดร.พสุ มองว่า ค่อนข้างยากที่จะฟันธงว่าอุตสาหกรรมไหนจะดีหรือไม่ดี เพราะในมุมมองของอาจารย์เชื่อว่า ปี 2018 ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญความท้าทายอย่างรุนแรงจากการก้าวล้ำของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โครงสร้างประชากร และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง กลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruptive จากการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คือ - ธุรกิจเทคโนโลยี - ธุรกิจบริการด้านการเงิน - ธุรกิจการสือสาร - ธุรกิจสื่อบันเทิง - ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจที่เผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของ Digital รองลงมา ได้แก่ - ธุรกิจการศึกษา - ธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค - ธุรกิจโรงพยาบาล - ธุรกิจอาหาร - ธุรกิจการผลิต - ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำพวกคอนโดที่อยู่อาศัยตามแนวโครงการรถไฟฟ้า - ธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของ Digital น้อยสุด ได้แก่ - ธุรกิจเคมีภัณฑ์ - ธุรกิจพลังงาน และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ - ธุรกิจส่งออกด้านการเกษตร - ธุรกิจเฮลท์แคร์ - ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของภาครัฐ - ธุรกิจโลจิสติกส์ “ถามว่ากลุ่มนี้ต้องเปลี่ยนไหม ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่ปรับตัวเองตอนนี้ สุดท้ายก็ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่อาจจะไม่ต้องพลิกเร็วเหมือนอุตสาหกรรมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก” รศ.ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย