กูรูแห่งซิลิคอนวัลเลย์ชี้ถ้ามีตลาดไม่ใหญ่พออย่าเป็นสตาร์ทอัพ

เนียร์ อียาร์ กูรูสตาร์ตอัพแห่งซิลิคอนวัลเลย์ชี้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพต้องมีขนาดของตลาดของสินค้าและบริการควรจะมีขนาดที่ใหญ่พอ ที่จะสามารถทำให้เติบโตต่อไปได้ และต้องเป็นสิ่งที่ตนเองถนัดและรู้จักปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจมากที่สุด เผยวงการสตาร์ตอัพของไทยกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งคุณภาพของสตาร์ตอัพหน้าใหม่และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโต

เนียร์ อียาร์ เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้อบรมในโครงการ dtac Accelerate batch 5 หลังจากเคยเป็นวิทยากรให้กับ dtac accelerate มาก่อนหน้านี้แล้ว รวมไปถึงยังเป็นผู้เขียนหนังสือ Hooked: How to build Habit-Forming Products  ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า วงการสตาร์ทอัพของไทยกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งคุณภาพของสตาร์ทอัพหน้าใหม่และระบบนิเวศ (startup ecosystem) ที่เอื้อต่อการเติบโตของเหล่าสตาร์ทอัพ

5 เคล็ดลับในการทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จประกอบด้วย 1.ตลาดของสินค้าและบริการนั้นมีขนาดที่ใหญ่พอที่จะสามารถทำให้เติบโตได้ 2.การรู้ความต้องการของบริโภคอย่างแท้จริง (Insight) และตอบสนองความต้องการนั้นได้ 3.เข้าใจจิตวิทยาของลูกค้า หลักความคิดของลูกค้าที่เราสามารถตอบโจทย์ได้อย่างไร การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับสินค้าและบริการ 4.ตลาดนั้นอาจมีลักษณะของความยากในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to Entry) เพื่อป้องกันคู่แข่งในการสร้างสงครามราคา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต

และ 5.ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพต้องที่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากธุรกิจที่ทำร่วมกันนี้ต้องใช้เวลาร่วมกันยาวนาน ต้องมีความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน

ทั้งนี้สำหรับปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จนั้น ต้องมีการการสร้างพฤติกรรมใช้ซ้ำ (Forming Habit) โดยจะเห็นได้จาก Facebook, Instagram และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ได้ทำการออกแบบกลไกที่ทำให้เกิดการใช้ซ้ำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้ใช้งาน โดยเขาได้ถอดรหัสพฤติกรรมการใช้ซ้ำออกมาเป็น Hooked model โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ TARI

1.Trigger (การกระตุ้น) เป็นการทำให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นทางกาย เช่น รูป กลิ่น เสียง ป้ายโฆษณา รวมไปถึง Notification และ Reminder ต่างๆ บนหน้าจอมือถือ และการกระตุ้นทางอารมณ์ เช่น ความชอบ ความรัก ตัวอย่างเช่น Facebook กระตุ้นให้คนเล่นเพราะชอบในคอนเทนต์ เรื่องราวของเพื่อน เรื่องราวที่เป็นกระแสขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการกดไลค์ กดแชร์ จากสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ

2.Action (การกระทำ) โดยหลังจากผู้ใช้ถูกกระตุ้นแล้ว ผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ตอัพจะต้องเข้าไปเป็นคำตอบหรือเป็นทางเลือกที่ใช่ให้กับผู้บริโภค โดยต้อทำการออกแบบให้ง่ายที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้งาน

3.Reward (ผลตอบรับ)เมื่อผู้ใช้มี action (โดยเปิดเล่นเฟสบุ๊ค) ความพึงพอใจที่พวกผู้ใช้บริการได้รับ (Reward) ก็คือการได้รับรู้เรื่องราวข่าวสารของเพื่อนๆ เกิดความสนุก และหากมี action อย่างต่อเนื่อง โดยการคอมเมนท์หรือตั้งสเตตัสบ้าง ก็จะสร้างให้เกิดความต่อเนื่อง

4.Investment (การลงทุน) สิ่งที่ผู้ใช้ตอบแทนกลับมาให้ผลิตภัณฑ์ ก็คือ การที่ผู้ใช้ลงทุนลงแรงโพสท์สเตตัส หรือถ่ายรูปมาอัพโหลดในหน้าเพจ ซึ่ง investment เหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ใช้ได้รับ reward กลับมาก่อนหน้าแล้ว

กลไกการทำงานของ Hooked model นี้ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นวัฏจักรของการใช้ซ้ำ โดยเมื่อผู้ใช้บริการได้ลงแรงกระทำไปบ้างแล้ว (Investment)  สิ่งนั้นก็มักจะหวนกลับไปเป็น external trigger ของผู้ใช้คนอื่นๆ หรือไปตอบโจทย์ internal trigger ของผู้ใช้คนอื่นๆ จนเกิดเป็น action ต่อเนื่องออกไป

รายงานของ CB Insights บริษัทวิจัยด้านการลงทุนในสตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า 80% ของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ทั่วโลกไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ 10% เป็น zombie กล่าวคือ เป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ตายแต่ก็ไม่โต ขณะที่เพียง 10% เท่านั้นที่มีการเติบโตในบริบทของสตาร์ทอัพ นั่นคือ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด