“Plastic Rights” พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย รักษ์โลกได้ถ้าใช้พลาสติกเป็น อีกมิติของการรักษ์สิ่งแวดล้อมจาก IRPC

พลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกจับตามองเพราะนับวันยิ่งทวีความรุนแรง พอๆกับภาวะโลกร้อน ในช่วง2ปีที่ผ่านมาผลกระทบจากพลาสติกที่มนุษย์ใช้แล้วทิ้งเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะภาพของสัตว์จำนวนมากที่เสียชีวิตจากขยะพลาสติกที่กินเข้าไป หรือภาพภูเขาขยะกองมหึมาที่ไม่ว่าจะกำจัดอย่างไรก็เพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน

เพราะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 500 ปี และในแต่ละวันมีปริมาณการใช้มากกว่าปริมาณที่กำจัดได้และในประเทศไทยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณ 2 ล้านตัน ต่อปี

 

ซึ่งจากผลกระทบต่างๆบวกกับเทรนด์โลกที่ต้องการลดปริมาณการใช้พลาสติกลง ประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาพลาสติกเช่นกัน เห็นได้จาก วันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2561 ที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดใช้พลาสติกภายใต้แนวคิด
“Beat Plastic Pollution” ซึ่งความทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดกิจกรรม ออกมาตรการรวมทั้งรณรงค์ให้มีการลดใช้โฟม และพลาสติกที่นำกลับมาใช้ซ้ำไม่ได้อย่างคึกคัก

นอกจากนี้อีกหนึ่งสถิติที่น่าตกใจคือประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกในฐานะประเทศที่ปล่อยพลาสติกลงทะเล ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจEEC ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลกันว่าปัญหาขยะในทะเลจะเพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของ 3 จังหวัด EEC มีปัญหาเพียบทั้งคุณภาพน้ำผิวดิน-น้ำบาดาลเสื่อมโทรม ปนเปื้อนโลหะหนัก ในขณะที่การบำบัดน้ำเสียทำได้เพียง 45.13% กากอุตสาหกรรมไม่ได้รับการกำจัด 55.26% และยังมีการลักลอบทิ้งต่อเนื่อง

 

โดยสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน จ.ฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 70.16 จ.ชลบุรี มีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องร้อยละ 46.53 และ จ.ระยองมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 31.81 ทั้งนี้ จากคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของขยะมูลฝอยปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมี EEC ปริมาณขยะจะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตันในปี 2680 แต่ที่น่ากังวลคือปัจจุบันยังไม่สามารถหาแนวทางจัดการได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพร้อมที่จะสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีในเกิดขึ้นในพื้นที่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) หนึ่งในภาคธุรกิจเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในจ.ระยอง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างขององค์กรที่เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในเรื่องของพลาสติกและขยะในทะเล ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน่วยงานราชการ และชุมชนรอบเขตประกอบการไออาร์พีซี จ.ระยอง จัดโครงการ “Plastic Rights” ส่งเสริมการใช้พลาสติกด้วยความรับผิดชอบ

 

โดยจะมุ่งเน้นในหลัก 3R Reduce ใช้เท่าที่จำเป็น Reuse ใช้ซ้ำ และ Recycle แยกก่อนทิ้งเพื่อนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะพลาสติกช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้ด้วยความรับผิดชอบ

สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ “Plastic Rights” เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่ส่งเสริมการใช้พลาสติกด้วยความรับผิดชอบ ใช้อย่างรู้คุณค่า และปรับทัศนคติของประชาชนทั่วไปว่า

 

“พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย รักษ์โลกได้ถ้าใช้พลาสติกเป็น”

 

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาโดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ มาให้สาระความรู้ และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน อาทิ กิจกรรมพายเรือเก็บขยะอนุรักษ์แม่น้ำระยอง ตลาด 3R Reduce Reuse Recycle การให้ความรู้เรื่องการใช้พลาสติกอย่างมีคุณค่า การทิ้งและแยกขยะอย่างถูกวิธี สาธิตการทำ Eco Brick คือการนำขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอัดใส่ขวดพลาสติกนำมาใช้แทนอิฐในงานก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนมีการประกวดการแต่งกายโดยพลาสติกเหลือใช้ “Fantastic Plastic” โดยเยาวชนจากโรงเรียน และชุมชนรอบเขตประกอบการ IRPC และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Big Cleaning

นอกเหนือจากกิจกรรม “Plastic Rights” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว IRPC ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่น และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกยังไห้น้ำหนักในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเริ่มตั้งแต่สายการผลิต ซึ่งIRPC ได้ผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ใช้พลาสติกด้วยความรับผิดชอบและคุ้มค่ามาอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ผู้บริหารมองว่า ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีและพลาสติกนั้น นับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตในปัจจุบันสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ชิ้นส่วนในเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบของพลาสติกทั้งสิ้น IRPC มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาในการนำพลาสติกไป Recycle เพื่อใช้งานในต่าง ๆ เช่น การ Recycle พลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

“การจัดการทรัพยากรพลาสติกเหลือใช้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติก เพื่อให้มีการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”สุกฤตย์ ปิดท้ายอย่างน่าสนใจ