ลี อายุ จือปา กับธุรกิจที่ใจรัก

ในยุคที่ร้านกาแฟมีแทบทุกตรอกซอกซอย ไม่ว่าจะหันไปทางใดหรือเดินไปทางไหน เราก็ได้สัมผัสกับกลิ่นกาแฟ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้ต้องงัดกลยุทธ์ทางการตลาดออกมาแข่งขันอย่างดุเดือด เพื่อให้ลูกค้าให้ติดหนึบ ไม่หนีหายไปไหน

 ‘อาข่า อามา’ หนึ่งในคอฟฟี่ชอปชื่อดังในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้นำเสนอรายละเอียด ควบคู่กับเสน่ห์ของกาแฟผ่านความเป็นตัวตน ให้ลูกค้าได้ดื่มกาแฟพร้อมกับสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น

เพราะเชื่อว่าการดื่มกาแฟเป็นการบริโภควัฒนธรรมไปด้วย ไม่ต้องกินกาแฟก็อยู่ได้แต่มันคือสังคม ‘ลี อายุ จือปา’ ชายหนุ่มอาข่า วัย 29 ปี เจ้าของกิจการและผู้สร้างแบรนด์ ‘อาข่า อาม่า’ กาแฟชุมชนจากเชียงรายที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ด้วยพลังแห่งความรัก

 บรรยากาศดีๆ ย่านวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ Business+ ได้นั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับเขาภายในร้าน อาข่า อาม่า คอฟฟี่ สาขา 2 เพื่อบอกเล่าเส้นทางกาแฟอย่างเป็นกันเอง

ออกตัวว่าไม่ใช่นักธุรกิจแต่เป็นนักพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนแม่จันใต้ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย กว่า 60 ครัวเรือน ซึ่งประสบปัญหากาแฟถูกกดราคา ให้เขาเลือกที่จะลาออกจากงานประจำแล้วมุ่งหน้ากลับภูมิลำเนา ด้วยความหวังจะนำพาชุมชนให้พ้นจากวิกฤตนี้

พร้อมทั้ง สานต่อกิจการปลูกกาแฟของครอบครัวที่ปลูกมานานเกือบ 20 ปี วันหนึ่งเมื่อเขากลับบ้านไปพร้อมกับโปรเจ็กต์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ รวมพลังชุมชนรับซื้อกาแฟอาราบิก้าจากชาวบ้าน โดยให้ประกันราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป ซึ่งเก็บผลผลิตกาแฟเชอรี่ได้ 200,000 กิโลกรัมต่อปี

“ผมเริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย” ลี เริ่มต้นโดยไม่มีแต้มต่อใดๆ เขาเริ่มต้นผลิตกาแฟจากการลองผิดลองถูกหลายครั้ง ทำให้ต้องหาความรู้โดยการเข้าร่วมงานอบรม ร่วมฟังความคิดเห็น ลงพื้นที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์

โอกาสที่ดีที่สุดของเขา เมื่อเพื่อนออกทุนสนับสนุนให้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อกลับมายังเมืองไทย ชีวิตชายหนุ่มก็ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ…

ชายหนุ่มไม่รอช้าที่จะสานฝันปั้นแบรนด์กาแฟชุมชน ภายใต้ชื่อ ‘อาข่า อาม่า’ เริ่มต้นขึ้นในปี 2553

จากวันนั้น มาถึงวันนี้ ความตั้งใจของชายผู้นี้จึงเป็นผลสำเร็จ ปัจจุบัน ‘อาข่า อาม่า’ กาแฟอาราบิก้าท้องถิ่นจากเชียงราย ได้รับการยอมรับจากเวที World Cup Tasters Championship ติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อนในฐานะที่เป็นกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป

 นั่นยิ่งทำให้ชายหนุ่มรู้สึกภูมิใจในตัวชาวบ้านที่ตั้งใจผลิตกาแฟ เพราะนี่ถือเป็นเครื่องหมายการันตีเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ว่าเป็นกาแฟที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในเวทีโลก แต่เขาก็ยังคงถ่อมตัวและถือว่าธุรกิจของเขากำลังอยู่ในช่วง ‘หัดเดิน’ สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้กับผู้ที่สนใจธุรกิจกาแฟต่อไป และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้

ลี บอกว่า “เพราะแรงบัลดาลใจของผมคือชุมชน ผมเชื่อว่า การให้คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ลองถามตัวเองว่าวันนี้เราให้อะไรกับตัวเอง ให้อะไรกับชุมชน โดยไม่ต้องถามว่าเราจะได้อะไรกลับคืนมา”

ทั้งนี้ เป้าหมายชีวิตที่ชายผู้นี้ต้องการก็คือ ให้ชาวบ้านสามารถอยู่และดูแลตัวเองได้ เพราะชาวบ้านอยู่ได้เราก็อยู่ได้ ถ้าถึงวันนั้นเขาจะมีความภาคภูมิใจยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี แผนธุรกิจภายใน 4-5 ปี เขาวางแผนไว้ว่า จะปลูกผลไม้ไทยเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตไซรัปชงกาแฟในร้านอาข่า อาม่า คอฟฟี่ทั้ง 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ไปพร้อมๆ กับการเตรียมสร้างศูนย์อบรมกาแฟให้กับชาวบ้าน เพื่อสนับสนุนนักพัฒนากิจกรรมให้สังคมต่อไป

สำหรับแผนระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้า แบรนด์ ‘อาข่า อาม่า คอฟฟี่’ แห่งที่ 3 จะเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยเขาบอกว่าจะลงมือบริหารและบุกตลาดด้วยตัวเอง

ระหว่างที่พูดคุยกันนั้น สายตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นของฮีโร่ชุมชนอย่าง ‘ลี อายุ จือปา’ ขณะถ่ายทอดความเป็นมาของ ‘อาข่า อาม่า’ ทำให้ชายหนุ่มสัมผัสได้ว่า พลังแห่งความรักท้องถิ่นของผู้ชายคนนี้ช่างยิ่งใหญ่

เห็นได้ว่าเส้นทางธุรกิจกาแฟที่ใจรักของ ‘ลี อายุ จือปา’ ทุกย่างก้าวจากนี้เขาจะไม่เดินอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะเดินไปพร้อมกับคนในชุมชนเดียวกัน เพื่อสานต่อความตั้งใจ ความมุ่งมั่น เพื่อให้คอกาแฟทั้งในและต่างประเทศ รู้ซึ่งว่า กาแฟที่ปลูกโดยผ่านการคั่วบดจากสองมือของชาวอาข่า…

ในเรื่องความละมุน และรสชาติ ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่า กาแฟพันธุ์ใดๆ บนโลกใบนี้เลย…

กนกวรรณ จันทร