โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร – ภัยเงียบของคนรักสัตว์

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร ?

คนรักสัตว์ทุกคนไม่ควรมองข้ามความน่ารักของสัตว์เลี้ยง วันนี้ Business+ นำบทความสาระและความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามาให้คนรักสัตว์ได้ทำความเข้าใจ รวมไปถึงรู้จักที่วิธีการป้องกันและรักษาให้ทันถ่วงทีหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง ในปัจจุบันยังไม่มีทางที่จะรักษาโรคพิษสุนัข บ้าได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการจะเสียชีวิตทุกราย

 

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง?

คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจาก สัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางหลักๆคือ

  1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
  2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย การถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลียผ่านผิวหนังปกติจะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น ยกเว้นกรณีที่บริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผล รอยถลอกหรือรอยขีดข่วน ในกรณีนี้จะมีโอกาสติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ได้ รวมทั้งกรณีถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา

 

คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการอย่างไร?

ในระยะ 2 – 3 วันแรกอาจมีไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีอาการเจ็บคอเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบ
ปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งๆที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมาก ขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติและเสียชีวิต
ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสัตว์กัด

  1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2 – 3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยโพวิดีน(เบตาดีน) หรือ แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
  2. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วันหรือนำไปให้สัตวแพทย์ ดูอาการ ขณะเดียวกันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมทันที ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือ แพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัขเพราะอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าเกินไป
  3. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัด ไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทันที
  4. ผู้ที่ต้องมารับการรักษาเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือมีบาดแผลไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมี เลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก
    วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ในปัจจุบันสถานเสาวภาใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าชนิดที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ฉีด 4-5 ครั้งเท่านั้น) เพราะมีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท กรณีที่บาดแผลมีเลือดออก ถูกเลียที่ริมฝีปาก น้ำลายกระเด็นเข้าตาผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวัคซีนร่วมกับการฉีดเซรุ่มด้วย

สถานเสาวภาใช้โปรแกรมการฉีดวัคซีน 2 แบบ คือ แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อและแบบฉีดเข้าในผิวหนัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องมารับการฉีดวัคซีนตามนัดทุกครั้ง

โรคพิษสุนัขบ้า
กรมควบคุมโรค

 

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร ?

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นส่วนน้ำใสของเลือดที่ได้จากม้าหรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษ สุนัขบ้าจนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในเลือดสูง ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อ ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าปริมาณมากซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขกัดทันที เนื่องจากการฉีด วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขกัดมีภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังการฉีดวัคซีน 14 วัน ดังนั้น การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนจึงเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลดีที่สุด ปัจจุบันสถานเสาวภาได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยภายในประเทศ

 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็มภายในระยะเวลา 1 เดือน วัคซีนนี้สามารถฉีดได้ในเด็ก บางครั้ง เด็กอาจถูกสัตว์กัดหรือเลียมือที่มีแผลหรือที่ปากโดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบและผู้ป่วยเด็กที่ถูกสัตว์กัดมักมี บาดแผลที่รุนแรง บริเวณหน้า ศีรษะ จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันในเด็กและบุคคลทั่วไปที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น

 

workpoint news รายงานว่า กรมปศุสัตว์ ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีพื้นที่สีแดงซึ่งโรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาดใน 22 จังหวัด ของประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่จังหวัด ตรัง สงขลา และสุรินทร์

ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และ น่าน

ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ได้แก่ ตาก และ ประจวบคีรีขันธ์

ภาคกลางและตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว

ภาคอีสาน 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี

ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ตรัง และ สงขลา

 

 

ที่มา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย , Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ , กรมควบคุมโรค