ประกันภัยรถยนต์

ซื้อประกันภัยรถยนต์อย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโบรกเกอร์เถื่อน

ซื้อประกันภัยรถยนต์อย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโบรกเกอร์เถื่อน

ปัจจุบัน แม้ว่าทางภาครัฐจะมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และมีช่องทางให้สามารถตรวจสอบนายหน้าประกันภัยหลายช่องทาง แต่กลับปรากฎข่าวประชาชนถูกหลอกให้ซื้อประกันภัยจากตัวแทนนายหน้าหรือบริษัทนายหน้าประกันภัยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับสูงถึง 60% ของเบี้ยประกันภัยทั้งระบบที่ประมาณ 2.2 แสนล้านบาทต่อปี

ประกันภัยรถยนต์

อย่างกรณีล่าสุด สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้นำผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายมากกว่า 100 ราย

กรณี บริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และนางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท หลอกขายประกันภัยรถยนต์ทางโทรศัพท์ พร้อมกับออกเอกสารใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งอ้างว่าเป็นของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง และออกใบแจ้งการโอนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายตกลงทำประกันภัยรถยนต์และได้ทำการชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่เมื่อถึงกำหนดรับกรมธรรม์ ผู้เสียหายไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทประกันภัย แต่บริษัทแจ้งว่าไม่มีการแจ้งขอเอาประกันภัยแต่อย่างใด เมื่อผู้เสียหายขอยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมให้ยกเลิก และไม่คืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้เสียหาย

ประกันภัยรถยนต์

ขณะที่เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามเพื่อให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เอส. เอ็ม. พี. อินชัวร์ จำกัด โดยแอบอ้างว่าเป็นบริษัทนายหน้าขายประกันภัยรถยนต์ผ่านทางโทรศัพท์ โดยไม่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยจากสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีประชาชนหลงเชื่อได้ซื้อประกันภัยรถยนต์ผ่านบริษัทดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะไม่ได้มีการส่งเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยจริงโดยมีผู้เสียหายกว่า 200 ราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 3 ล้านบาท

จากสองกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ยังมีผู้หลงเป็นเหยื่อโบรกเกอร์เถื่อนที่คอยจ้องจะเอาเปรียบและโกงผู้บริโภคตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขบวนการดังกล่าว จึงสำคัญที่สุด

ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าซื้อประกันภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ ไม่ว่าจะซื้อประกันภัยผ่านตัวแทนนายหน้า/บริษัทนายหน้า ผ่านทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์ก็ตาม

ประกันภัยรถยนต์

ผู้เอาประกันหรือเจ้าของรถควรศึกษาข้อมูลการทำประกันภัยให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันการถูกหลอกจากผู้ที่ไม่หวังดีแอบอ้างมาเสนอขายประกันภัยด้วยการยื่นข้อเสนอจูงใจต่าง ๆ เช่น การลดเบี้ยประกันภัย การให้ของแจกของแถม หรือการชำระผ่านบัตรเครดิตที่สามารถผ่อนได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโบรกเกอร์ประกันภัยเถื่อน ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้แนะนำวิธีการตรวจสอบการซื้อประกันภัยเพื่อป้องกันการถูกหลอกจากนายหน้าหรือบริษัทนายหน้าเถื่อนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยรถยนต์ เพื่อความมั่นใจว่าจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลก่อนและหลังการทำประกันภัยรถด้วยตัวเอง ดังนี้

1. ก่อนทำประกันภัย ต้องมีการสอบถามชื่อ-นามสกุล เลขที่ใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย ของผู้ที่มาเสนอขายประกันภัยทุกครั้ง หรือศึกษาข้อมูลค่าเบี้ยประกันภัย รวมทั้งเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยโดยละเอียด

2. หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวแทน/นายหน้าหรือบริษัทนายหน้าประกันภัย สามารถตรวจสอบทะเบียนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยจากสำนักงาน คปภ. ที่ eservice.oic.or.th และสามารถตรวจสอบบริษัทหรือตัวแทน ที่ถูก Blacklist ของ คปภ ได้ด้วย หรือสอบถามไปยังสายด่วน คปภ. เบอร์ 1186 รวมถึงสอบถามบริษัทประกันภัยโดยตรงว่าเป็นนายหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทหรือไม่ ไม่ควรเร่งรีบตัดสินใจเร็วเกินไป ก่อนทำประกันภัยควรมีเวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ และควรทำประกันภัยรถล่วงหน้าก่อนถึงวันที่กรมธรรม์จะหมดอายุ

ประกันภัยรถยนต์

3.หลังทำประกันภัย จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลการเอาประกันภัยจากบริษัทประกันภัยโดยตรง ว่ากรมธรรม์ที่ได้รับนั้นออกโดยบริษัทประกันภัยจริงเพื่อยืนยันว่าบริษัทได้รับประกันภัยเรียบร้อยแล้ว ทุกครั้งที่มีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้ตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินว่าเป็นเอกสารที่ออกจากบริษัทนายหน้าที่ได้รับมอบอำนาจ หรือเป็นใบเสร็จรับเงินจากบริษัทประกันภัย กรณีหากชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้วภายใน 15 วัน ยังไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยให้ติดต่อบริษัทนายหน้าหรือบริษัทประกันภัยโดยตรง หากต้องการยกเลิกประกันเราทำได้ภายใน 30 วัน

สุดท้าย ผู้ที่มีรถยนต์ พึงระลึกเสมอว่า รถทุกคันควรจะมีประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัย ร่วมคุ้มครองกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด ซึ่งไม่เพียงแต่คุ้มครองทรัพย์สินหรือเหตุร้ายสำหรับตัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย หากไม่มีกรมธรรม์ประกันภัย เราจะต้องชดใช้ในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้ แต่หากเราได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ก็ควรจะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่เช่นกัน ดังนั้น การตรวจสอบกรมธรรม์และนายหน้าประกันภัยที่ถูกต้อง จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ